ข่าวต่างประเทศ

อนามัยโลก ประกาศด่วน ‘ฝีดาษลิง’ ในแอฟริกา เป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก

WHO ประกาศให้การระบาดของ ‘ฝีดาษลิง’ ในแอฟริกาเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขโลก เหตุเพราะมีการแพร่กระจายของไวรัสรูปแบบใหม่

วันที่ 15 สิงหาคม 2567 สำนักข่าวต่างประเทศ AP รายงานว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงประกาศให้ การระบาดของ ฝีดาษลิง (mpox) ในประเทศคองโก และพื้นที่ที่อื่น ๆ ในทวีปแอฟริกา เป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก โดยขณะนี้มีผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อในกว่าสิบประเทศ อีกทั้งไวรัสรูปแบบใหม่กำลังแพร่ระบาด โดยมีเพียงวัคซีนไม่กี่โดสที่สามารถกำจัดการแพร่ระบาดในทวีปนี้ได้

ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ ‘ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา’ ประกาศว่า การระบาดของโรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยมีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 500 ราย พร้อมกับมีการเรียกร้องความช่วยเหลือจากนานาชาติเพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของไวรัส

เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซัส ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO แถลงว่า “นี่เป็นสิ่งที่เราทุกคนควรให้ความสำคัญ ความเป็นไปได้ที่โรคนี้จะแพร่กระจายต่อไปในแอฟริกา และที่อื่น ๆ ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก”

ในขณะเดียวกัน ช่วงก่อนหน้านี้ Africa CDC ได้กล่าวว่า mpox หรือที่รู้จักกันในชื่อ ฝีดาษลิง ถูกตรวจพบในพื้นที่ 13 ประเทศในปีนี้ และมากกว่า 96% ของผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตทั้งหมดอาศัยอยู่ในคองโก จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 160% และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว จนถึงตอนนี้ มีผู้ป่วยมากกว่า 14,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตรวมแล้ว 524 ราย

“ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์ที่ฝีดาษลิงก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเพื่อนบ้านจำนวนมากขึ้นในและรอบ ๆ แอฟริกากลาง” ศาสตราจารย์ซาลิม อับดุล คาริม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อชาวแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประธานกลุ่มฉุกเฉินของ Africa CDC กล่าว ก่อนจะกล่าวต่อว่า ฝีดาษลิงรูปแบบใหม่ที่แพร่กระจายจากคองโกดูเหมือนจะมีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 3-4% เลยทีเดียว

ฝีดาษลิง ในแอฟริกา
ภาพจาก : apnews

ในปี 2565 องค์การอนามัยโลก ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลก หลังจากเกิดการแพร่กระจายของเชื้อไปยังกว่า 70 ประเทศที่ไม่เคยมีประวัติการพบผู้ติดเชื้อมาก่อน โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้ชายที่เป็นเกย์และไบเซ็กชวล ซึ่งในการระบาดครั้งนั้น มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 1%

ไมเคิล มาร์ก ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์จาก London School of Hygiene and Tropical Medicine กล่าวว่า การประกาศให้การระบาดของฝีดาษลิงครั้งล่าสุดในแอฟริกาเป็นภาวะฉุกเฉินนั้นนับเป็นการตัดสินใจที่สมเหตุสมผล หากจะสามารถนำไปสู่การได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อควบคุมการระบาดเหล่านี้

“เป็นความล้มเหลวของประชาคมโลกที่ต้องปล่อยให้สถานการณ์เลวร้ายถึงขนาดนี้เพื่อที่จะปล่อยทรัพยากรที่จำเป็น” เจ้าหน้าที่ของ Africa CDC กล่าวว่าเกือบ 70% ของผู้ป่วยในคองโกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งคิดเป็น 85% ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด

ฌาคส์ อลอนดา นักระบาดวิทยาที่ทำงานในคองโกกับองค์กรการกุศลระหว่างประเทศ กล่าวว่า เขาและผู้เชี่ยวชาญคนอื่น ๆ กังวลเป็นพิเศษเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงในค่ายผู้ลี้ภัยทางตะวันออกของประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง

“กรณีที่เลวร้ายที่สุดที่ฉันเคยเห็นคือทารกอายุหกสัปดาห์ติดเชื้อฝีดาษลิงในขณะที่อายุได้เพียงสองสัปดาห์” ทารกอยู่ในความดูแลของพวกเขามาเป็นเวลาหนึ่งเดือน “เขาติดเชื้อเพราะโรงพยาบาลแออัดเกินไป ทำให้เขาและแม่ของเขาถูกบังคับให้อยู่ร่วมห้องกับผู้ที่ไม่รู้ตัวว่าติดเชื้อไวรัส”

หน่วยงานด้านสุขภาพของสหประชาชาติ กล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้เพิ่งมีการตรวจพบโรคฝีดาษลิงเป็นครั้งแรกในสี่ประเทศของแอฟริกาตะวันออก ได้แก่ บุรุนดี เคนยา รวันดา และยูกันดา การระบาดทั้งหมดเหล่านี้เชื่อมโยงกับการระบาดในคองโก ในไอวอรีโคสต์และแอฟริกาใต้

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์รายงานถึงการเกิดขึ้นของฝีดาษลิงรูปแบบใหม่ที่อันตรายถึงชีวิต ซึ่งสามารถฆ่าคนได้ถึง 10% ในเมืองเหมืองแร่ของคองโก ซึ่งพวกเขากลัวว่าอาจแพร่กระจายได้ง่ายขึ้น โดยส่วนใหญ่แพร่กระจายผ่านการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ แตกต่างจากการระบาดครั้งก่อน ๆ ที่ส่วนใหญ่พบรอยโรคที่หน้าอก มือ และเท้า แต่รูปแบบใหม่นี้ทำให้เกิดอาการ และรอยโรคที่อวัยวะเพศที่รุนแรงน้อยกว่า ทำให้ตรวจพบได้ยากขึ้น ซึ่งหมายความว่าผู้คนอาจทำให้ผู้อื่นป่วยโดยไม่รู้ว่าตนเองติดเชื้อ

มาร์ค จาก London School of Hygiene and Tropical Medicine กล่าวว่า ในกรณีที่ไม่มีวัคซีนฝีดาษลิงที่ได้รับอนุญาตในตะวันตก เจ้าหน้าที่อาจพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกันให้กับประชาชน “เราต้องการวัคซีนจำนวนมากเพื่อที่เราจะได้สามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด” เขากล่าว พร้อมเสริมว่า ประชากรกลุ่มเสี่ยงก็คือผู้ค้าบริการทางเพศ เด็ก และผู้ใหญ่ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาด

ทั้งนี้ แม้ว่าการประกาศภาวะฉุกเฉินของ WHO มีจุดมุ่งหมายเพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานผู้บริจาคและประเทศต่าง ๆ ดำเนินการ แต่การตอบสนองทั่วโลกต่อการประกาศก่อนหน้านี้ก็มีความหลากหลาย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button