สปสช. อนุมัติ เพิ่มเงินช่วยเหลือให้ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง จากเดิม 6,000 บาท เป็นเงินจำนวน 10,442 บาทต่อปี เดินหน้าขยายกลุ่มเป้าหมาย ช่วยเหลือกลุ่มผู้ป่วยอื่น ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวดี เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้มีมติเห็นชอบให้เพิ่มงบประมาณค่าบริการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่ จากเดิม 6,000 บาทต่อคนต่อปี เป็น 10,442 บาทต่อคนต่อปี คิดเป็นการเพิ่มขึ้นถึง 4,442 บาทต่อคนต่อปี
การเพิ่มงบประมาณครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อยกระดับการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคาดว่าจะช่วยให้หน่วยบริการสามารถจัดบริการได้อย่างมีคุณภาพ ทั้งในด้านการดูแลรักษาและการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้หน่วยบริการที่มีศักยภาพ เช่น สถานชีวาภิบาลในชุมชนต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอีกด้วย
การอนุมัติงบประมาณดังกล่าว ถือเป็นข่าวดีสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงและครอบครัว เนื่องจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น
ในแต่ละปีผู้มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลจากภาครัฐจำนวน 320,000 คนต่อปี แต่ปัจจุบันพบว่ายังมีผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงกลุ่มอื่น ๆ ในชุมชนเพิ่มเติมอีก เช่น กลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อม หรือกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) ซึ่งมีความจำเป็นหรือความต้องการที่ต้องได้รับการดูแลเหมือนกับกลุ่มผู้สูงอายุที่มี ADL เท่ากับหรือต่ำกว่า 11
ดังนั้น เพื่อให้ผู้มีภาวะพึ่งพิงได้รับการดูแลที่บ้านหรือในชุมชนเพิ่มขึ้น บอร์ด สปสช. มีมติเห็นชอบให้ขยายกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ครอบคลุมกลุ่มที่มีภาวะสมองเสื่อมตั้งแต่ระยะปานกลางและกลุ่มผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย โดยคาดการณ์ว่าจะทำให้มีผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิงที่ได้รับการดูแลในระบบเพิ่ม ประมาณ 600,000 คน
รัฐบาลมุ่งดูแลผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รองรับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทย ผ่านการจัดสรรงบประมาณ โดยมอบให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นหน่วยงานดำเนินการให้ผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) โดยได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผ่านกลไก “ระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในพื้นที่” (Long Term Care : LTC )
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง