ไทยเข้าสู่ “ลานีญา” ยาวถึงต้นปี 68 คนเหนือเจอฝนหนัก ร้อนสุด-หนาวสุด
กรมอุตุนิยมวิทยาเผย ประเทศไทยเตรียมเข้าสู่สภาวะ “ลานีญา” ต่อเนื่องถึงปี 2568 ส่งผลให้สภาพอากาศโดยรวมมีลักษณะสูง – ต่ำมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ และฝนชุมเล็กน้อยในบางภูมิภาค
กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศ ประเทศไทยเตรียมเข้าสู่สภาวะลานีญา (La Niña) ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2567 และคาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงต้นปี 2568 ส่งผลให้ปริมาณฝนในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในบางพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือในเดือนกรกฎาคม สิงหาคม และตุลาคม ส่วนภาคใต้อาจมีฝนน้อยกว่าปกติในเดือนสิงหาคม
นางสาวกรรวี สิทธิชีวภาค อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ปรากฏการณ์เอนโซซึ่งปัจจุบันอยู่ในสภาวะปกติ กำลังเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะลานีญา เนื่องจากอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณเขตศูนย์สูตรเย็นลงเกือบทั่วทั้งบริเวณ
ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาอุณหภูมิผิวน้ำทะเลเฉลี่ยบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรมีค่าอยู่ในช่วงประมาณ -0.9 ถึง 0.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าปกติ โดยอุณหภูมิบริเวณตอนกลางด้านตะวันออกและตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรมีค่าใกล้เคียงถึงต่ำกว่าค่าปกติ
เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 คาดว่าปริมาณฝนในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมปีนี้จะมากกว่าปีที่แล้ว แต่จะน้อยกว่าในเดือนกันยายนและพฤศจิกายน ส่วนเดือนตุลาคมและธันวาคมคาดว่าจะมีปริมาณฝนใกล้เคียงกัน สำหรับอุณหภูมิคาดว่าจะต่ำกว่าปีที่แล้ว แต่ยังคงสูงกว่าค่าปกติเล็กน้อย
ภาวะลานีญา (La Niña) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน โดยมีลักษณะตรงข้ามกับปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño) ในช่วงภาวะลานีญา อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในบริเวณเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลางและตะวันออกจะเย็นลงกว่าปกติ
สาเหตุหลักมาจากลมค้าตะวันออกที่พัดแรงขึ้น ทำให้น้ำอุ่นถูกพัดไปทางตะวันตก และน้ำเย็นใต้มหาสมุทรลอยขึ้นมาแทนที่บริเวณทางตะวันออก ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก เช่น ปริมาณฝนที่เพิ่มขึ้นทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก และความแห้งแล้งทางตะวันออก
สำหรับประเทศไทย ภาวะลานีญาอาจทำให้มีฝนตกมากขึ้นในบางพื้นที่ของภาคเหนือ และมีฝนตกน้อยลงในบางพื้นที่ของภาคใต้ รวมถึงอุณหภูมิโดยรวมอาจลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กรมอุตุฯ โต้ข่าวลือ เมืองไทยหนาวสุด รอบ 5 ปี ยัน ตอนนี้คาบเกี่ยวร้อน-ฝน ไม่มีหนาว
- ความแตกต่าง ‘เอลนีโญ’ กับ ‘ลานีญา’ ร้อนแล้ง-ฝนถล่ม ส่งผลต่อไทยอย่างไร
- โลกเดือด ‘เอลนีโญ’ ปีนี้ ทำเมืองไทยร้อนสุดเป็นประวัติการณ์