ข่าวการเมือง

‘เรืองไกร’ ยื่น ป.ป.ช. ร้องสอบ ‘เศรษฐา’ ชี้มีพิรุธ หลังยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่ม

เรืองไกร ยื่นจดหมายถึง ป.ป.ช. ร้องสอบ เศรษฐา ชี้มีพิรุธ หลังยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่ม 2 รายการ แต่ตัวเลขไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อต่าง ๆ กรณีนายเศรษฐา ทวีสิน ยื่นบัญชีทรัพย์สินเพิ่มอีก 2 รายการ นั้น เมื่อไปดูบัญชีทรัพย์สินในเว็บไซต์ ป.ป.ช. แล้ว พบว่าตัวเลขไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด จึงเป็นเหตุให้น่าสงสัย อีกทั้งข้อมูลที่เคยแจ้งเกี่ยวกับประวัติการทำงานย้อนหลัง 5 ปี พบว่า ไม่มีการแจ้งของปี 2565 และ 2566 ดังนั้นจึงต้องส่งหนังสือไปถึง ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบในประเด็นเพิ่มเติมจากที่ปรากฏข่าว ดังต่อไปนี้

การที่ป.ป.ช.เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของนายเศรษฐา ทวีสิน อีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 67 แต่พบว่า ยังคงมียอดรวมรายการทรัพย์สินรวมของนายเศรษฐา เท่าเดิม คือ 659,391,610.70 บาท ทั้งที่ควรจะมียอดเพิ่มขึ้นอีก 2 รายการ คือ รายการทรัพย์สินที่เป็นโทเคนดิจิทัลชื่อ SiriHubA ประมาณ 310 หน่วยมูลค่า 2,907 บาท และเงินจำนวน 197,048.69 บาท รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ควรแสดงเพิ่มเติมอีก 199,956.49 บาท

นายเรืองไกร กล่าวว่า การยื่นบัญชีเพิ่มเติมที่อาจไม่ได้แก้ไขรายการทรัพย์สินที่ควรแสดงไว้อีก 199,956.49 บาท อาจจะมีปัญหาตามมาว่า เป็นการยื่นที่ถูกต้องครบถ้วน หรือไม่ ทั้งนี้ เทียบเคียงได้จากกรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินของนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ที่มีการยื่นแก้ไขตัวเลขรายได้ดอกเบี้ยรับ

ทั้งนี้ เว็บไซต์ ป.ป.ช. ได้แสดงบัญชีของนายเศรษฐา ทวีสิน ทั้งสองครั้ง ว่านายเศรษฐา ทวีสิน ได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 05/09/2566 ซึ่ง ป.ป.ช. ลงรับไว้เลขที่ 373 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 66 เวลา 10.48 ซึ่งในส่วนประวัติการทำงานย้อนหลัง 5 ปีของนายเศรษฐา ทวีสิน มีการระบุข้อเท็จจริงไว้ดังนี้

– พ.ศ. 2553 กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน)
– พ.ศ. 2564 ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน)

นายเรืองไกร ชี้ เนื่องจากนายเศรษฐา ยื่นบัญชีทรัพย์สินในกรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 05/09/2566 ดังนั้น ประวัติการทำงานย้อนหลัง 5 ปี จึงแปลก เพราะยื่น พ.ศ. 2553 กับ พ.ศ. 2564 ห่างกันประมาณ 11 ปี แต่ไม่ได้ระบุของ พ.ศ. 2565 และ 2566 มาไว้ด้วย กรณีจึงมีเหตุอันควรสงสัย ซึ่งเมื่อไปตรวจสอบรายงานประจำปี 2565 ของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) จึงพบข้อมูลว่า นายเศรษฐา ทวีสิน มีตำแหน่งเป็น กรรมการ , ประธานอำนวยการ , กรรมการผู้จัดการใหญ่ , ประธานกรรมการบริหาร , รองประธานกรรมการลงทุน , กรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน , กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท และในรายงานประจำปี 2565 ยังระบุไว้ด้วยว่า ตั้งแต่ ธ.ค. 2564 – ปัจจุบัน นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นกรรมการ บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) อีกด้วย และเมื่อไปตรวจสอบจากเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบข่าวของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

– ในเนื้อข่าววันที่ 22 มีนาคม 2566 บางส่วนระบุว่า “นายเศรษฐา ทวีสิน อยู่ระหว่างการลางานโดยไม่รับค่าตอบแทน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป”

– ในเนื้อข่าววันที่ 4 เมษายน 2566 บางส่วนระบุว่า “บริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) ขอแจ้งให้ทราบว่า นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ขอลาออกจากตำแหน่งประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ รวมทั้งทุกตำแหน่งในฐานะกรรมการของบริษัท และกรรมการชุดย่อยของบริษัท ได้แก่ ประธานกรรมการบริหาร รองประธานกรรมการลงทุน และกรรมการบรรษัทภิบาลและความยั่งยืน โดยให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2566 เป็นต้นไป”

ข่าวทั้งสองดังกล่าว นายเศรษฐา ทวีสิน จะอ้างว่าไม่รู้ว่าในปี 2565 และปี 2566 ดำรงตำแหน่งอะไรบ้าง คงรับฟังไม่ได้ เพราะในรายงานประจำปี 2566 ของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) ก็ยังคงระบุถึงตำแหน่งดังกล่าวในเดือนเมษายนไว้ด้วย

ดังนั้น ตามข้อมูลบัญชีทรัพย์สินของนายเศรษฐา ที่ได้เปิดเผยอยู่ในเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. จึงมีเหตุอันควรตรวจสอบว่า บัญชีทรัพย์สินรวมของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ยื่นเพิ่มเติม ได้รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ควรแสดงเพิ่มเติมอีก 199,956.49 บาท หรือไม่ และมีการปกปิดปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบในส่วนประวัติการทำงานย้อนหลัง 5 ปี หรือไม่

สรุปว่า วันนี้ ตนจึงได้ส่งหนังสือทางไปรษณีย์ EMS เพื่อขอให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2566 และที่ยื่นเพิ่มเติม ว่ามีการยื่นโดยถูกต้องครบถ้วน หรือไม่ และมีการปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบในส่วนประวัติการทำงานย้อนหลัง ปี 2565 และ 2566 หรือไม่ และกรณีดังกล่าว จะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 114 วรรคหนึ่ง หรือไม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button