สุขภาพและการแพทย์

แฉสารอันตราย “ไซบูทรามีน” ผอมเร็วตายไว คนขายแอบใส่ใน อาหารเสริมลดน้ำหนัก

จากกรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งผลการตรวจอาหารเสริมยี่ห้อหนึ่ง ที่มีดาราเป็นพรีเซนเตอร์ พบสารอันตราย ‘ไซบูทรามีน’ ผสมอยู่ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทางหน่วยงานตรวจเจอสารนี้ในผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนักอื่นๆ บนท้องตลาด

สารนี้อันตรายอย่างไร ทำไม อย. ถึงห้ามเด็ดขาด แต่ผู้ผลิตก็ยังดึงดันแอบใส่ลงไป วันนี้ Thaiger จะมาแฉข้อมูลให้ผู้บริโภครู้เท่าทัน

ไซบูทรามีน คืออะไร?

ไซบูทรามีน (Sibutramine) เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้นนะครับ เดิมทีไซบูทรามีนถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า แต่ต่อมาพบว่ามันมีผลข้างเคียงที่น่าสนใจคือ ช่วยลดความอยากอาหาร

กระบวนการคือ ไซบูทรามีนจะไปรบกวนการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองอย่าง เซโรโทนิน และ นอร์เอพิเนฟริน ซึ่งเป็นสารที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกอิ่มและความอยากอาหาร เมื่อไม่อยากอาหาร กินน้อยลง น้ำหนักก็จะลดลงไปโดยปริยาย แต่เป็นการผอมแบบสุขภาพไม่ดี

ทำไมคนขายถึงแอบใส่ในยาลดน้ำหนัก?

ด้วยคุณสมบัติลดความอยากอาหารนี่แหละครับ ทำให้ไซบูทรามีนกลายเป็น “ตัวช่วย” ลดน้ำหนักที่ใคร ๆ ก็อยากได้ ยิ่งในยุคที่ทุกคนอยากผอมเพรียว รูปร่างดี ในเวลาอันรวดเร็วแบบไม่ต้องออกกำลังกาย ยิ่งทำให้ไซบูทรามีนเป็นที่ต้องการของตลาด จึงมีพ่อค้าแม่ค้าหัวใสแอบเอายาตัวนี้ไปใส่ในอาหารเสริมลดน้ำหนัก โดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ตัว อ้างว่าใส่สารธรรมชาติลงไป ซึ่งการใส่สารตัวนี้ลงไปถือว่าผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด

ปนะเทศไทยยกเลิกไซบูทรามีนออกจากทะเบียนตำรับ ตั้งแต่ ปี 2553 เนื่องจากมีรายงานถึงผลกระทบต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เกิดผลเสียร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิต

อันตราย x2 ที่แฝงมากับไซบูทรามีน

ผู้ที่กินยาลดน้ำหนักติดต่อไประยะเวลาหนึ่ง จะเกิดอันตรายต่อร่างกาย โดยเฉพาะระบบหัวใจและหลอดเลือด บางรายรุนแรงถึงเสียชีวิตได้

  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ: ไซบูทรามีนสามารถทำให้หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะได้ เราจึงได้เห็นคนบอกว่ากินยาลดน้ำหนักแล้วใจสั่น
  • ความดันโลหิตสูง: ยาตัวนี้ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะในคนที่เป็นโรคความดันอยู่แล้ว ยิ่งอันตรายเข้าไปใหญ่
  • หลอดเลือดสมองตีบ: ในบางราย ไซบูทรามีนอาจทำให้หลอดเลือดสมองตีบหรือแตกได้ ทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต เดินไม่ได้
  • ผลข้างเคียงอื่น ๆ: เช่น ปากแห้ง นอนไม่หลับ ท้องผูก ปวดศีรษะ วิตกกังวล

ทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

การลดน้ำหนักที่ปลอดภัยและยั่งยืนคือการควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากต้องการใช้ยาลดน้ำหนัก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและยาที่เหมาะสมกับตัวเองนะครับ อย่าเสี่ยงซื้อยาลดน้ำหนักตามอินเทอร์เน็ตหรือแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะอาจมีสารอันตรายแอบแฝงอยู่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Aindravudh

นักเขียนประจำ Thaiger มีประสบการณ์เขียนข่าวมากกว่า 5 ปี จบการศึกษาด้านภาษาและประวัติศาสตร์ จากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความสนใจ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เจาะประเด็นข่าวทางสังคม ด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องแบบย่อยง่าย อย่างงานเขียนสร้างสรรค์ สั้น กระชับ จับทุกประเด็น หัวข้อที่เชียวชาญคือเรื่องไลฟ์สไตล์ เลขเด็ด หวยรัฐบาลไทย หวยลาว ช่องทางติดต่อ vajara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button