ข่าวต่างประเทศ

หญิงวัย 50 ไปหาหมอ เพราะเมา ทั้งที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ สุดท้ายป่วยโรคหายาก

เคสสุดแปลกที่ทำหมอถึงกับงง หญิงวัย 50 ปี เข้าพบหมอด้วยอาการเหมือนคนเมาสุรา ทั้งที่ไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ ซ้ำยังเกิดขึ้นบ่อยถึง 7 ครั้ง ในรอบ 2 ปี สุดท้ายแพทย์วินิจฉัยว่า ป่วยโรคหายาก

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ดร.ราเฮล ซิวูเด (Rahel Zewude) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากมหาวิทยาลัยโทรอนโต ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวสุดแปลกที่เกิดขึ้นในวงการแพทย์ คนไข้เพศหญิงชาวโทรอนโตรายหนึ่ง เข้าพบหมอด้วยอาการเมาสุรา แต่ความแปลกคือ ทั้งตัวเธอเองและสามีต่างยืนยันหนักแน่นว่า ก่อนมีอาการไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์แต่อย่างใด

Advertisements

ก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยมักมีอาการง่วงนอนตลอดเวลา บางครั้งก็ถึงขั้นหลับกลางอากาศไปเฉย ๆ บ้างก็ในระหว่างเตรียมตัวไปทำงานหรือบ้างก็ผล็อยหลับขณะทำอาหาร โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เคยไปพบแพทย์ด้วยอาการมึนเมามาแล้วถึง 7 ครั้ง และก็ได้รับการวินิจฉัยว่า มีอาการพูดไม่ชัด และมีกลิ่นแอลกอฮอล์จากลมหายใจ สุดท้ายจึงถูกส่งตัวไปยังแผนกทางเดินอาหาร

ผู้ป่วย

ในขณะที่ในครั้งล่าสุด ภายหลังเข้ารับการตรวจอย่างละเอียดแล้ว คุณหมอวินิจฉัยว่า เธอป่วยเป็นโรค “Auto-brewery syndrome” กลุ่มอาการร่างกายกลั่นสุราได้เอง ซึ่งเป็นภาวะที่หายากและร้ายแรง โดยเกิดจากการที่ยีสต์หรือแบคทีเรียในระบบทางเดินอาหารเจริญเติบโตมากเกินไป ทำให้คาร์โบไฮเดรตจากอาหารถูกเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์ผ่านกระบวนการหมัก

ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ ได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคตับ ลำไส้หดเกร็งผิดปกติ หรือโรคลำไส้อักเสบ นอกจากนี้คนที่มีสุขภาพแข็งแรงก็อาจเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน หากเคยรับประทานยาปฏิชีวนะ

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า “ถ้าเธอกินคาร์โบไฮเดรตไม่มาก อาการก็จะไม่แย่ แต่ถ้าเธอกินเค้กหรืออาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเยอะ ๆ ระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายของเธอก็จะพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขนาดที่ว่าทำให้เธอหลับไปดื้อ ๆ ได้เลย”

Advertisements

หากพิจารณาจากประวัติการรักษาจะพบว่า หญิงรายนี้เคยมีอาการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะและได้รับยาปฏิชีวนะ รวมถึงยาแก้กรดไหลย้อน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้แบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ลดลง และทำให้เชื้อราที่ก่อให้เกิดการหมักเพิ่มจำนวนขึ้น

Auto-brewery syndrome

ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคนี้ มักจะได้รับยาต้านเชื้อราก่อนที่จะเริ่มทานโปรไบโอติกในระยะยาว เพื่อเพิ่มระดับแบคทีเรียชนิดดีในลำไส้ และยังได้รับคำแนะนำให้ซื้อเครื่องตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในลมหายใจ เพื่อวัดระดับแอลกอฮอล์ในตอนเช้า ตอนเย็น หรือเมื่อมีอาการ โดยในปัจจุบัน คนไข้รายนี้ได้รับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อราแล้ว และกำลังควบคุมอาหารโดยทานคาร์โบไฮเดรตให้น้อยที่สุด

ถึงจะฟังดูน่าตกใจ แต่นี่ก็ไม่ใช่ผู้ป่วยเคสแรก โดยก่อนหน้านี้ ช่วงทศวรรษที่ 1940 เคยมีกรณีของชายชาวเบลเยียมที่พ้นผิดจากข้อหาเมาแล้วขับ หลังจากแพทย์ 3 คนยืนยันว่าเขาเป็นโรคนี้ นอกจากนี้ยังมีอดีตครูชาวลองไอส์แลนด์ที่ต้องตกงานเพราะถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ ทั้งที่เขาก็ป่วยเป็นโรคนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า สิ่งสำคัญคือคนใกล้ชิดต้องรู้จักสัญญาณและอาการของโรค และรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที เมื่อมีอาการผิดวิสัยไปจากปกติ

ข้อมูลจาก New York Post

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button