สื่อนอกยืนยัน ทั้งโลกกำลังเผชิญ ‘ปะการังฟอกขาว’ ครั้งใหญ่ รอบที่ 4
NOAA ประกาศ ทั่วโลกกำลังเผชิญสภาวะปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ รอบที่ 4 และนับเป็นครั้งที่สองในรอบ 10 ปี
เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์ขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งสหรัฐ (NOAA) รายงานว่า ขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวทั่วโลก ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ทั่วโลกครั้งที่สี่ที่มีการบันทึกไว้ และเป็นครั้งที่สองในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา
อ้างอิงจากการตรวจวัดความเครียดจากความร้อนระดับฟอกขาว (Bleaching-level heat stress) ซึ่งทาง NOAA Coral Reef Watch (CRW) ได้ติดตามและคาดการณ์จากระยะไกล ซึ่งยังคงครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางในมหาสมุทรแอตแลนติก แปซิฟิก และอินเดีย การตรวจสอบความเครียดจากความร้อนของ CRW อิงจากข้อมูลอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลตั้งแต่ปี 1985 ถึงปัจจุบัน ผสมผสานจากดาวเทียมของ NOAA และพาร์ทเนอร์
ภาวะปะการังฟอกขาวจะเกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิของมหาสมุทรอุ่นขึ้นจนเกินระดับที่ปะการังทนไหว อันเป็นผลพวงมาจากแก๊สเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลกที่ส่งผลให้น้ำในมหาสมุทรอุ่นขึ้น และนั่นทำให้เกิด “ปะการังฟอกขาว” ซึ่งปะการังขับเอาสาหร่ายที่มีสีสันสดใสซึ่งอาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการังออกไปจาก
เดเร็ก แมนเซลโล (Derek Manzello) นักวิทยาศาสตร์และผู้ประสานงาน NOAA CRW กล่าวว่า “ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2023 ถึงเมษายน 2024 มีการบันทึกการฟอกขาวของปะการังอย่างมีนัยสำคัญในทั้งซีกโลกเหนือและใต้ของแอ่งมหาสมุทรหลักแต่ละแห่ง”
ตั้งแต่ต้นปี 2023 มีการยืนยันการฟอกขาวครั้งใหญ่ของแนวปะการังทั่วเขตร้อน รวมพื้นที่ในรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา แถบทะเลแคริบเบียน ในบราซิล แถบแปซิฟิกตะวันออกเขตร้อน (รวมถึงเม็กซิโก เอลซัลวาดอร์ คอสตาริกา ปานามาและโคลอมเบีย) รวมถึงแนวปะการัง Great Barrier Reef ที่ออสเตรเลีย พื้นที่ขนาดใหญ่ของแปซิฟิกใต้ (รวมถึงฟิจิ วานูอาตู ตูวาลู คิริบาติ ซามัว และเฟรนช์โปลินีเซีย) บริเวณทะเลแดง อ่าวอคาบา อ่าวเปอร์เซีย และอ่าวเอเดน
นอกจากนั้น NOAA ยังได้รับการยืนยันการฟอกขาวอย่างกว้างขวางในส่วนอื่น ๆ ของลุ่มมหาสมุทรอินเดียเช่นกัน ซึ่งรวมถึงแทนซาเนีย เคนยา มอริเชียส เซเชลส์ โตรเมลิน มายอต และนอกชายฝั่งตะวันตกของอินโดนีเซียด้วย
“ในขณะที่มหาสมุทรของโลกยังคงร้อนขึ้น การฟอกขาวของปะการังจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น หากเหตุการณ์เหล่านี้รุนแรงหรือยืดเยื้อก็อาจทำให้ปะการังตาย ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนที่มีชีวิตขึ้นอยู่กับแนวปะการัง”
การฟอกขาวของปะการัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับวงกว้าง ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การดำรงชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร และอื่น ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าปะการังจะตายเสมอไป หากสาเหตุที่ทำให้เกิดการฟอกขาวลดน้อยลง ปะการังก็สามารถฟื้นตัวได้ และแนวปะการังก็ยังคงให้บริการระบบนิเวศที่เราทุกคนพึ่งพาต่อไป
เจนนิเฟอร์ คอส (Jennifer Koss) ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์แนวปะการังของ NOAA (CRCP) กล่าวว่า หากพิจารณาจากแบบจำลองการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับแนวปะการังมีการชี้ให้เห็นมาหลายปีแล้วว่า ผลกระทบจากการฟอกขาวจะเพิ่มขึ้นทั้งความถี่และความรุนแรงเมื่อมหาสมุทรอุ่นขึ้น
เนื่องจากเหตุผลนี้ NOAA CRCP จึงได้ผนวกรวมแนวทางการจัดการโดยเน้นการฟื้นตัว และเพิ่มความสำคัญกับการฟื้นฟูปะการังในแผนยุทธศาสตร์ปี 2018 รวมถึงให้ทุนสนับสนุนการศึกษาของ National Academies of Sciences ซึ่งนำไปสู่การตีพิมพ์รายงาน Interventions to Increase the Resilience of Coral Reefs ในปี 2019
“เราเป็นแนวหน้าของการวิจัย การจัดการ และการฟื้นฟูแนวปะการัง และกำลังดำเนินการตามข้อเสนอแนะของรายงาน Interventions Report ปี 2019 อย่างจริงจัง”
อย่างไรก็ดี จากปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในฟลอริดาปี 2023 ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นเร็วกว่า อยู่นานกว่า และรุนแรงกว่าเหตุการณ์ก่อนหน้านี้เมื่อเทียบกับภูมิภาคเดียวกัน สิ่งนี้ได้ทำให้ NOAA เรียนรู้มากมายในระหว่างเกิดการฟอกขาว รวมถึงการลงมือแทรกแซงเพื่อลดอันตรายต่อปะการัง
ข้อมูลจาก NOAA
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ดร.ธรณ์เผย ปะการังฟอกขาว ไม่เคยเกิดในหน้าหนาว หวั่นเอลนีโญลากยาวข้ามปี
- ผู้เชี่ยวชาญเผย “ปะการังเขากวาง” หมู่เกาะช้างกำลังตาย คาดเกิดจากโรค SCTL