ข่าว

ผู้เชี่ยวชาญเผย “ปะการังเขากวาง” หมู่เกาะช้างกำลังตาย คาดเกิดจากโรค SCTLD

ดร.ธรณ์ เผยภาพปะการังเขาขวาง หมู่เกาะช้าง ชี้ปะการังจำนวนมากกำลังตาย คาดว่าสาเหตุจากโรค SCTLD หรือ ภาวะสูญเสียเนื้อเยื่อจากหินปะการัง

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยภาพการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศบริเวณหมู่เกาะช้าง จังหวัดตราด พร้อมระบุข้อความ

“ภาพที่เพื่อนธรณ์เห็นอยู่นี้ คือภาพปะการังเขากวางจำนวนมากกำลังตายที่หมู่เกาะช้าง เป็นภาพของเพื่อนธรณ์ท่านหนึ่งกรุณาส่งมาให้ผม เพราะเขาเพิ่งไปดำน้ำแถวนั้น และพบสภาพดังกล่าว เขาเข้าใจว่าเป็นปะการังฟอกขาว แต่ผมลองดูภาพแล้วคิดว่าไม่ใช่

ผู้เชี่ยวชาญเผย "ปะการังเขากวาง" หมู่เกาะช้างกำลังตาย คาดเกิดจากโรค SCTLD
ภาพจาก : Thon Thamrongnawasawat

ช่วงนี้น้ำทะเลไม่ได้ร้อนจัดขนาดนั้น อีกทั้งการตายของปะการัง มีลักษณะเหมือนเป็นโรค SCTLD (Stony coral tissue loss disease) โรคนี้ทำให้เนื้อเยื่อปะการังตาย ลามออกไปเรื่อย ๆ ในภาพจะเห็นว่าบางส่วนยังมีสีมีชีวิต แต่สีขาวที่ลามขึ้นมา ส่วนนั้นคือตายแล้ว แตกต่างจากปะการังฟอกขาวที่ต้องขาวพร้อมกัน ตายพร้อมกันทั้งหมด

SCTLD มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่ระยะหลังรุนแรงมากขึ้น ตัวอย่างง่ายสุดคือปีที่แล้ว (2565) เกิดโรคนี้ที่ปะการังแถวแสมสาร ในช่วงรอยต่อเดือนตุลาคม/พฤศจิกายนนี่แหละ ครั้งนั้นกรมทะเลลงไปตรวจสอบ พยายามหาทางแก้ไข แต่มันยากมาก เคราะห์ดีที่ระบาดอยู่ช่วงสั้น ๆ พอเข้าปี 66 ก็เบาลง

ล่าสุดคณะประมงเพิ่งไปเช็กที่แสมสาร พบว่าเบากว่าปีก่อนมาก แต่ปะการังที่ตายไปแล้ว ก็ตายไป ยังไม่ฟื้นง่าย ๆ ปานนั้น ผมก็วางใจ คิดว่าคงเป็นปรากฏการณ์เฉพาะปี แต่มาเห็นภาพนี้ ผมตกใจมาก สถานที่คือเกาะยักษ์ใหญ่ เป็นเกาะเล็ก ๆ ใกล้เกาะรัง อยู่ในเขตอุทยานหมู่เกาะช้าง

ผู้เชี่ยวชาญเผย "ปะการังเขากวาง" หมู่เกาะช้างกำลังตาย คาดเกิดจากโรค SCTLD
ภาพจาก : Thon Thamrongnawasawat

เกาะแห่งนี้เป็นจุดท่องเที่ยวดำน้ำโด่งดัง เพราะในแถบนี้ ไม่ค่อยมีปะการังสวย ๆ นักท่องเที่ยวจากเกาะช้าง เกาะหมาก หรือแม้กระทั่งเกาะกูด บางทีก็มาดำน้ำเที่ยวกันที่นี่ โดยเฉพาะดงปะการังเขากวางหนาแน่น ที่ปัจจุบันหาดูยากเหลือเกิน

อุทยานวางทุ่นไข่ปลาไว้รอบเกาะ บริหารจัดการอย่างดี นั่นคือครั้งหลังสุดที่ผมไปเห็นเมื่อ 2-3 ปีก่อน ปัญหาคือโลกที่เปลี่ยนไป ภัยคุกคามไม่ได้มีเพียงสมอเรือ นักท่องเที่ยวเตะโดนปะการัง ภัยยุคนี้รุนแรงกว่านั้น ป้องกันแก้ไขยากกว่านั้น เช่น โรคปะการัง ปะการังฟอกขาว ฯลฯ

ผมยังบอกไม่ได้ว่า โรคปะการังที่เกิดบ่อยขึ้น โดยเฉพาะในภาคตะวันออก เกี่ยวข้องกับโลกร้อนหรือสภาพความแปรปรวนของท้องทะเลหรือไม่ ? แต่บอกได้ว่าเป็นกังวลมากกับสภาพแนวปะการังในภาคตะวันออก ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

หน้าร้อนปะการังฟอกขาว เข้าหน้าหนาวปะการังเป็นโรค ย้ายที่ไปเรื่อย ๆ แล้วเราจะทำยังไงดี ? ผลกระทบไม่ใช่แค่ระบบนิเวศ แค่ส่งผลต่อถึงการท่องเที่ยว โดยเฉพาะจุดดำน้ำสำคัญเช่นที่นี่

ผู้เชี่ยวชาญเผย "ปะการังเขากวาง" หมู่เกาะช้างกำลังตาย คาดเกิดจากโรค SCTLD
ภาพจาก : Thon Thamrongnawasawat

ทั้งหมดนั้นคือภาพที่ได้รับจากเพื่อนธรณ์ แน่นอนว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงต้องลงไปสำรวจสภาพที่เกิดขึ้น ตรวจสอบขนาดพื้นที่ วิเคราะห์ว่าเป็นโรคจริงไหม ฯลฯ แม้เป็นพื้นที่ของกรมอุทยาน แต่ผมคิดว่าคงต้องทำงานร่วมกันกับกรมทะเล เพราะมีผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปะการังที่สามารถวิเคราะห์ในรายละเอียดมากกว่า

ขณะเดียวกันคงต้องฝากเพื่อน ๆ ที่เป็นนักดำน้ำ ช่วยกันตรวจสอบพื้นที่รอบ ๆ อีกที หากพบปะการังตายในลักษณะนี้ให้รีบแจ้งมา เพราะเรายังมีข้อมูลน้อยมาก ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และน่าจะรุนแรงขึ้นในอนาคต ผมคิดว่าเราต้องประเมินความเสี่ยงของระบบนิเวศ ก่อนมุ่งเน้นงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อให้เรามีความรู้พอรับมือและจัดการได้

มันผิดจากยุคก่อนที่แค่ควบคุมการประมง วางทุ่นป้องกันทิ้งสมอ ดูแลการท่องเที่ยว รณรงค์จิตสำนึก จัดกิจกรรมฟื้นฟู ฯลฯ ทำทั้งหมดแล้ว ปะการังก็ยังตายเป็นดง เราคงต้องหาทางรับมือกับภัยพิบัติใหม่ ความรู้สำคัญ งานวิจัยสำคัญ วิทยาศาสตร์ทางทะเลยิ่งสำคัญ เพราะนั่นอาจเป็นหัวใจของการอนุรักษ์แนวปะการังตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป”

ทั้งนี้ ในเบื้องต้น ดร.ธรณ์ได้แจ้งต่อกรมทะเลเป็นที่เรียบร้อย คาดว่าอีกไม่นานคงมีการลงสำรวจพื้นที่ในบริเวณ พร้อมขอบคุณเพื่อนผู้แจ้งข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button