ปัญหาบอลไทย หลังเกมแพ้เกาหลีใต้ 0-3 ถล่มอีเวนท์ก่อนแข่ง 3 ชม. ป่วนห้องนักเตะ
วิเคราะห์ ปัญหาบอลไทย หลังเกมแพ้เกาหลีใต้ 0-3 นอกเหนือศักยภาพผู้เล่น แฟนช้างศึกตำหนิผู้บริหาร ห้องนักเตะไม่ควรมีใครป่วนสมาธิก่อนแข่ง
ควันหลงศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย ที่ล่าสุด “ทัพช้างศึก” ทีมชาติไทย ต้องพบกับความพ่ายแพ้ให้กับ เกาหลีใต้ ไปแบบขาดลอย 0-3 ต่อหน้าแฟนบอลเต็มความจุกว่า 4 หมื่นคน ณ สนามราชมังคลากีฬาสถาน วานนี้ (26 มี.ค.67) นอกจากประเด็นวิพากษ์วิจารณ์เรื่องผลงานนักเตะ ตลอดจนการวางแท็คติก ซึ่งเสียงส่วนมากยอมรับได้เพราะนักเตะและทีมงานก็ต่อสู้ ทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดีที่สุดแล้ว
อย่างไรก็ตามในส่วนของเสียงสะท้อนจากแฟนบอลยังพบมีจำนวนมากที่มองว่า ปัญหาของบอลไทยที่สำคัญอีกอย่าง คือ กิจกรรมก่อนแข่งที่ทำลายสมาธิของนักเตะ ตัวอย่าง เรื่องความเชื่อที่มีการให้บรรดาผู้เล่นช้างศึกไปบนบานศาลกล่าว ก่อนที่เกมจะเริ่มเตะ 3 ชม.
นอกจากนี้ยังมีประเด็นห้องของนักเตะและทีมงานซึ่งถูกบุคคลภายนอกเข้าไปยุ่งเกี่ยว ทำให้หลายคนมองการกระทำแบบนี้ไม่เหมาะสม แม้บุคคลภายนอกที่กล่าวถึงจะเป็นผู้บริหารทางสมาคมหรือบุคคลที่มีตำแหน่งทางการเมืองก็ตาม
ตัวอย่างของความคิดเห็นจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งเข้าไปเขียนแสดงความเห็นหลังเกมทีมชาติไทยนัดล่าสุดในกลุ่มเฟซบุ๊กฟุตบอลไทยเพื่อศึกษา ไม่ดูแค่ผลแพ้ชนะ ได้ระบุถึงปัญหาที่ยกมาข้างต้น พร้อมกับเทียบกรณีซึ่งเคยเกิดก่อนหน้านี้ ตอนปี 2547 ที่ ไทย แพ้ เกาหลีเหนือ คาบ้าน 1-4 ที่ช่วงนั้นหกระแสบอลไทยฟีเวอร์ไม่ต่างจากปัจจุบัน
เนื้อหาจากโพสต์ของแฟนบอลรายนี้ไร่เรียงไว้ว่า “ปัญหาของบอลไทย ไม่ใช่เพราะศักยภาพของนักเตะยังคงมีกิจกรรมในเรื่องความเชื่อก่อนเกมส์การแข่งขันเพียง 3 ชม. (ตามภาพที่ 1) ห้องของนักเตะและทีมงาน บุคคลภายนอกไม่ควรเข้าไป ถึงจะเป็นผู้บริหารทางสมาคมหรือบุคคลที่มีตำแหน่งทางการเมือง (ตามภาพที่ 2)”
“9 มิ.ย. 2547 ไทย (59) แพ้ เกาหลีเหนือ (123) คาบ้าน 1-4 (ตามภาพที่ 3-4) ช่วงเวลานั้นก่อนแข่งกระแสทีมชาติไทยฟีเวอร์มากเหมือนกับตอนนี้ไม่มีผิด 20 ปีผ่านมาทีมชาติไทยเรากลับมามีกระแสตอบรับจาก Social Media ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในเกมส์บุกไปเสมอเกาหลีใต้ ที่โซล 1-1”
หลังจากที่มีกระแสตอบรับดีเราก็มักจะเห็นภาพที่ 2 เป็นประจำและในส่วนภาพที่ 1 ผมถือเป็นประเด็นเพราะในเวลาดังกล่าว นักบอลต้องเตรียมตัวทบทวนแท๊กติกกับโค้ชหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ตามแต่โค้ชกำหนด ผู้บริหารไม่ควรจะไปแทรกแซงในช่วงเวลาดังกล่าวและนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เห็นและยังคงมีต่อไป
ผู้บริหารควรจะให้ความสำคัญในเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬาและจิตวิทยามากกว่านี้เพราะในเกมส์กีฬาอาศัยศักยภาพทางร่างกายและความสามารถของโค้ช ไม่ใช่การพนันที่ต้องอาศัยความเชื่อและดวงและหน้าที่ของผู้บริหารคืออยู่ข้างหลัง
ประเด็นของผู้ใช้เฟซบุ๊กจากกลุ่ม @ฟุตบอลไทยเพื่อศึกษา ไม่ดูแค่ผลแพ้ชนะ ยังสอดคล้องกับมุมมองของสื่อมวลชน โดยเพจ วิเคระห์บอลจริงจัง ซึ่งได้ลงโพสต์วิเคราะห์และวิจารณ์หลังจบเกม รวมถึงยังมีประเด็นที่เปรียบเทียบ ความแตกต่างของนัดที่บุกไปเสมอ 1-1 ที่กรุงโซล กับเกมล่าสุดที่เสียท่าขาดลอยต่อหน้าแฟนบอลไทย
สิ่งที่แตกต่างกันคือ บรรยากาศเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดกระแสฟีเวอร์กว่ามาก พร้อมกับยกเหตุการณ์แปลก ๆ เช่น นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เข้าไปในห้องแต่งตัวของผู้เล่นก่อนแข่งขัน เพื่อให้กำลังใจ ซึ่งเจ้าของเพจแสดงมุมมองว่า ถ้าพูดจริง ๆ คือ นายกรัฐมนตรี ไม่ควรเอาตัวเองเข้าไปอยู่ตรงนั้น เพราะมันคือการไปบดบังเวลาที่นักเตะจะทำสมาธิหรือโค้ชจะทบทวนแท็กติก
เนื้อหาบางบรรทัด เจ้าของเพจวิเคราะห์บอลจริงจังยังยืนยันว่า ไม่ใช่แค่นายกฯ เท่านั้น แต่หมายถึง “ทุกคน” ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ นักเตะและสตาฟฟ์ ไม่ควรเข้าไปยุ่งกับทีมก่อนแข่งทั้งสิ้น
ปัจจุบัน ทีมชาติไทย ยังอยู่ในเส้นทางลุ้นผ่านตีตั๋วฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย โดยโปรแกรม 2 นัดที่เหลือในรอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบ 3 จะไปเยือนทีมชาติจีน วันที่ 6 มิถุนายน 2567 ก่อนกลับมาเล่นในบ้านนัดสุดท้ายกับสิงคโปร์ วันที่ 11 มิ.ย.67 ตามลำดับ.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ส่องคอมเมนต์ แฟนบอลไทย หลังช้างศึกแพ้เกาหลีใต้ คัดบอลโลก 2026
- 45,458 คน ! มาดามแป้ง ดีใจเห็นภาพแฟนบอลไทยเต็มราชมังฯ
- ถิรพล นักบอลไทยลีก 2 ถูกต้นสังกัดเบี้ยวค่าเหนื่อย 4 เดือน หอพักถูกตัดน้ำ-ไฟ