นักวิทย์ฯ พบ ฟอสซิลกะโหลกโลมาแม่น้ำโบราณสายพันธุ์ใหม่ อายุ 16 ล้านปี
ใหญ่สุดที่เคยมีมา นักวิทยาศาสตร์ ค้นพบซากฟอสซิลส่วนกะโหลกของโลมาแม่น้ำสายพันธุ์ใหม่ อายุนานนับ 16 ล้านปี ในบริเวณแม่น้ำริโอ นาโป ในพื้นที่ป่าดิบชื้นแอมะซอน ชายแดนเปรู
สำนักข่าวต่างประเทศ theguardian รายงานว่า นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยซูริก ในสวิตเซอร์แลนด์ ได้เปิดเผยถึงการศึกษาฟอสซิลกะโหลกของสัตว์ที่เชื่อว่าเป็นโลมาแม่น้ำยักษ์ ที่ค้นพบเมื่อปี 2561 ในพื้นที่ป่าดิบชื้นแอมะซอน อยู่ใกล้ชายแดนเปรูติดกับโคลอมเบีย และห่างจากกรุงลิมา เมืองหลวงเปรู ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ มากกว่า 1,000 กิโลเมตร ซึ่งเป็นสปีชีส์ที่เชื่อว่าได้อพยพหนีออกจากมหาสมุทรและเข้ามาอาศัยอยู่ในแม่น้ำอเมซอนของเปรูเมื่อ 16 ล้านปีที่แล้ว โดยเป็นสายพันธุ์ที่มีความยาวถึง 3.5 เมตร และถือเป็นโลมาแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา
โลมาขนาดยักษ์พันธุ์ใหม่ตัวนี้ ได้รับการตั้งชื่อว่า Pebanista yacuruna ตามชื่อของ Yacuruna สัตว์ในตำนานของชาวเปรู ซากดึกดำบรรพ์นี้มีความน่าทึ่งและเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศแม่น้ำ และแน่นอนว่าการค้นพบทางบรรพชีวินวิทยาในครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างมาก เพราะช่วยให้เราเข้าใจวิวัฒนาการของโลมาและความเสี่ยงที่พวกมันเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ดี โลมาแม่น้ำเป็นหนึ่งในสัตว์จำพวกวาฬที่หายากที่สุด แม้จะเป็นการดีที่ได้พบ แต่ในขณะเดียวกัน ด้านหัวหน้าผู้เขียนผลงานวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ก็ได้กล่าวว่า การค้นพบได้ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงต่อการสูญพันธ์ของโลมาแม่น้ำที่เหลืออยู่ทั่วโลกที่อาจเกิดขึ้นภายใน 20 ถึง 40 ปีข้างหน้า อาทิ โลมาแม่น้ำแยงซีเกียง ในจีน ที่ขณะนี้ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เนื่องด้วยการพัฒนาเมือง มลพิษ และการทำเหมืองแร่
ทั้งนี้ โลมาโบราณยักษ์นี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับโลมาแม่น้ำที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันในน่านน้ำที่มันเคยอาศัยอยู่ โดยสัตว์ที่ใกล้ชิดที่สุดของมันที่ยังคงมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ก็คือโลมาแม่น้ำแถวเอเชียใต้ ที่อยู่ในแม่น้ำคงคาของอินเดีย
ข้อมูลจาก theguardian
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง