สื่อเผย แล็บจีน ทดลองเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ ในหนู สถิติตาย 100%
เปิดผลทดลองจากจีน นำเชื้อไวรัสกลายพันธุ์จากโควิด-19 มาทดลองในหนู ผลพบว่าหนูเสียชีวิตภายใน 8 วัน พร้อมสถิติ หนูทดลองเสียชีวิตแบบ 100% ด้านผู้เชี่ยวชาญหลายคนวิจารณ์งานวิจัย “นี่มันเลวร้ายสุด ๆ”
เว็บไซต์ New York Post รายงาน แล็บทดลองในประเทศจีน กำลังทดลองเชื้อไวรัส GX_P2V เชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์กับหนูทดลอง สถิติเสียชีวิตทุกตัวแบบ 100% หลังได้รับเชื้อดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย โดยจะเข้าไปทำลายสมองของหนู จากการทดลองในครั้งนี้ ทำให้เห็นกลไกในการเกิดโรคโควิด-19 ในมนุษย์มากขึ้น
สำหรับไวรัสแสนอันตรายนี้ เป็นเชื้อที่กลายพันธุ์จากเชื้อ GX/2017 ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่เปรียบเสมือนลูกพี่ลูกน้องของไวรัสโคโรน่า ที่มีจุดกำเนิดจากในตัวลิ่นมาเลเซียในปี 2017 (3 ปีก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ทั่วโลก) โดยหนูทดลองที่ติดเชื้อไวรัสนี้ จะเสียชีวิตภายในเวลาเพียง 8 วัน ด้านนักวิจัยจึงพากันตั้งข้อสังเกตว่า เชื้อดังกล่าวมีอัตราการเสียชีวิตที่รวดเร็วจนน่าตกใจ
เชื้อไวรัส GX_P2V จะเข้าไปติดเชื้ออยู่ที่ปอด กระดูก ดวงตา หลอดลม และสมองของหนู ซึ่งมันรุนแรงมากพอที่จะทำให้หนูเสียชีวิตอย่างง่ายดาย ในช่วงไม่กี่วันก่อนหนูเสียชีวิต พวกหนูทดลองจะมีน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว มีท่าทางโค้งงอ เคลื่อนไหวได้อย่างเชื่องช้า และที่น่ากลัวที่สุด คือ ดวงตาของเจ้าหนูผู้น่าสงสารจะเปลี่ยนสีจากดำกลายเป็นขาวโพลน ก่อนเสียชีวิต
นักวิจัย เผยว่า แม้จะดูน่ากลัว แต่การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการศึกษาชิ้นแรกที่รายงานอัตราการเสียชีวิตแบบ 100% ในหนูที่ติดไวรัสที่เกี่ยวข้องกับเชื้อโควิด-19 ซึ่งผลวิจัยนั้นสูงกว่าผลการศึกษาอื่น ๆ ที่เคยมีรายงานไว้ก่อนหน้านี้เป็นอย่างมาก ที่สำคัญ ผลการศึกษานี้ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์อย่างไร
ศาสตราจารย์ ฟรองซัวส์ บัลลูซ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากสถาบันพันธุศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ได้ประณามงานวิจัยข้างต้นว่า “นี่มันเลวร้ายมาก ไร้จุดหมายทางวิทยาศาสตร์โดยสิ้นเชิง” “ฉันไม่เห็นสิ่งใดที่น่าสนใจเลย ที่สามารถเรียนรู้จากการบังคับให้หนูพันธุ์แปลก ๆ ติดไวรัสแบบสุ่ม ในทางกลับกัน ฉันมองว่าการทดลองนี้อาจมีข้อผิดพลาดได้”
“การตีพิมพ์ล่วงหน้า ไม่ได้การันตีระดับควาปลอดภัยทางชีวภาพ รวมถึงข้อความระวังด้านความปลอดภัยทางชีวภาพที่ใช้ในงานวิจัย” “การไม่มีข้อมูลนี้ ทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่งานวิจัยบางส่วนหรือทั้งหมด เช่น การวิจัยในอู่ฮั่นในปี 2016-2019 ที่อาจก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้ถูกดำเนินการวิจัยแบบไม่ระมัดระวัง รวมถึงไม่มีการควบคุมความปลอดภัยทางชีวภาพที่ต่ำ และแนวปฏิบัติที่จำเป็น สำหรับการวิจัยกับเชื้อโรคที่อาจระบาดได้” ศาสตราจารย์ บัลลูซ์ กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน ดร. ริชาร์ด เอช. เอ็บไรท์ ศาสตราจารย์วิชาเคมีและชีววิทยาเคมี มหาวิทยาลัยรัตเกอร์ส ก็ได้สนับสนุนแนวคิดของ ศาสตราจารย์ บัลลูซ์ อีกด้วย ทั้ง ดร.เกนนาดี กลินสกี้ ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์ที่เกษียณแล้ว มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เสริมว่า “ความบ้าคลั่งนี้ เราต้องรีบหยุดก่อนที่จะสายเกินแก้”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สะพรึง! ห้องทดลองเถื่อน พบเลือด-เชื้อไวรัส และหนูดัดแปลงพันธุกรรมเพียบ
- สุขภาพและการแพทย์ไลฟ์สไตล์ เช็กอาการ ‘ไวรัสแลงยา’ เชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ จ่อระบาดหนักแทนโควิด
ที่มา : New York Post