ทำความรู้จัก วิทยาลัยเทคนิคดุสิต สถาบันอาชีวะการก่อสร้างครบวงจร
เปิดโลก วิทยาลัยเทคนิคดุสิต สถาบันอาชีวะที่ครบเครื่องเรื่องก่อสร้าง พร้อมทั้งประวัติและหลักสูตรที่เปิดสอน ใครสนใจต้องอ่าน
หากพูดถึงวิทยาลัยเทคนิคที่มีชื่อเสียงด้านการก่อสร้าง วิทยาลัยเทคนิคดุสิต เป็นอีกหนึ่งชื่อที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในสายงานก่อสร้างรวมถึงนักเรียน นักศึกษาที่เรียนจบจากที่นี่ก็มีงานทำ มีเงินเดือนกันถ้วนหน้า เนื่องจากช่างสายก่อสร้างเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมากในตลาดแรงงาน แถมยังมีรายได้ที่สูง วันนี้ Thaiger จะพาทุกคนมารู้จักประวัติของวิทยาลัยเทคนิคสายก่อสร้าง ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับสถาบัน พร้อมทั้งหลักสูตรทั้งหมดที่เปิดทำการเรียนการสอนในปัจจุบัน ใครกำลังเล็งจะเรียนต่อ ปวช ปวส รวมถึง ป.ตรี สายนี้ห้ามพลาด
ประวัติ วิทยาลัยเทคนิคดุสิต สถาบันอาชีวะการก่อสร้างครบวงจร
ในช่วงก่อนปี 2498 โรงเรียนอาชีวศึกษาในประเทศไทยมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือ โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนทวาย จากนั้นการอาชีวศึกษาได้มีการขยายตัวมากขึ้น ต่อมาในปี 2498 รัฐบาลภายใต้การนำของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เห็นความสำคัญของอาชีวศึกษา จึงมอบหมายให้กระทรวงศึกษาในสมัยนั้นทำการเปิด โรงเรียนช่างก่อสร้างดุสิต (ก.ส.ด) ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2598
สำหรับหลักสูตรริเริ่มช่วงเปิดทำการเรียนการสอนใหม่ มี 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรอาชีวศึกษาชั้นสูงแผนกก่อสร้าง (หลักสูตร 3 ปี) จะรับนักเรียนที่สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และ หลักสูตรอาชีวศึกษาชั้นสูงแผนกช่างไม้ (หลักสูตร 1 ปี) จะรับนักเรียนที่สำเร็จประโญคมัธยมอาชีวศึกษาตอนปลาย โดยปีแรกของการศึกษามีนักเรียนทั้งหมด 82 คน แบ่งเป็นแผนกช่างก่อสร้าง 73 คน และแผนกช่างไม้ 9 คน
ปีต่อมา โรงเรียนได้ขยายหลักสูตรของช่างไม้ปลูกสร้างออกเป็น 3 ปี และในปีเดียวกัน ได้มีการเปิดสอนรอบบ่ายตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้น เพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ไม่มีสถานที่เรียน ภายหลังการสอนรอบบ่ายถูกยกเลิกไปในปีการศึกษาปี 2504
ในแผนการศึกษาชาติปี 2503 กรมอาชีวะได้ปรับปรุงหลักสูตรของโรงเรียนต่าง ๆ เช่นเดียวกับโรงเรียนก่อสร้าง ซึ่งเดิมเป็นโรงเรียนชั้นประโยคอาชีวศึกษาชั้นสูง ให้กลายเป็นโรงเรียนในระดับประโยคมัธยมตอนปลาสายอาชีพในปี 2504 โดยได้ปรับปรุงหลักสูตรให้มีการเรียนการสอนช่างก่อสร้างแผนกต่าง ๆ 5 แผนก ดังนี้ แผนกช่างไม้ปลูกสร้าง, แผนกช่างไม้ครุภัณฑ์, แผนกช่างปูน, แผนกช่างสุขภัณฑ์ และแผนกช่างเขียนแบบ
วันที่ 1 ธันวาคม 2519 โรงเรียนช่างก่อสร้างดุสิต ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น วิทยาลัยอาชีวศึกษากรุงเทพฯ วิทยาเขต 1 ดุสิต และเปลี่ยนเป็น วิทยาลัยช่างอุตสาหกรรมนครหลวง ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น วิทยาลัยเทคนิคดุสิต เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2522 โดยปัจจุบันเปิดสอนระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรี
ข้อมูลพื้นฐาน วิทยาลัยเทคนิคดุสิต
ปรัชญาประจำวิทยาลัย
ทักษะเด่น เน้นคุณธรรม
นำวิชา พัฒนาสังคม
คติพจน์ของสถานศึกษา
วิริเยน ทุกขมจเจติ
คนล่วงทุกข์ได้ ด้วยความเพียร
สีประจำวิทยาลัย
สีน้ำเงิน – สีเหลือง โดยมีความหมายดังนี้
สีน้ำเงิน หมายถึง ช่างก่อสร้าง โดยวิทยาลัยเทคนิคดุสิตมุ่งเน้นในการสอนสาขาวิชาการก่อสร้างเพียงอย่างเดียว ทุกแผนกที่ทำการเรียนการสอน ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานโยธา งานสำรวจ งานเคหภัณฑ์ รวมถึงงานสถาปัตยกรรม
สีเหลือง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรือง ความก้าวหน้า เป็นสิ่งที่สูงส่งดุจดั่งทอง
เมื่อทั้งสองสีมารวมกันเป็นสีธงของวิทยาลัย จึงหมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของช่างก่อสร้าง นักศึกษาที่ได้เข้ามาอยู๋ในใต้ธงร่มนี้ จะได้รับวิชาความรู้การก่อสร้างในแผนกที่ตนเรียน เพื่อนำความรู้ไปสร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติสืบไป
สัญลักษณ์ประจำวิทยาลัย
ตราสัญลักษณ์ของวิทยาลัยเทคนิคดุสิต คือ เครื่องหมายที่แทนแผนกวิชาต่างๆ ที่เปิดสอนในวิทยาลัยแห่งนี้ ลักษณะของตราประกอบด้วยรูปสามเหลี่ยมหลายรูปบรรจุในกรอบสี่เหลี่ยมจตุรัสสีน้ำเงินกรอบขาว แต่ละรูปมีความหมายต่างๆ กันดังต่อไปนี้
1. รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสสีน้ำเงินกรอบขาว หมายถึง ช่างก่อสร้าง ช่างเคหภัณฑ์ โรงเรียนต้นแบบช่างก่อสร้างผลิตช่างก่อสร้างมากมาย รับราชการเป็นครู-อาจารย์ อยู่ในวิทยาลัยเทคนิคต่าง ๆ ไม่น้อย ช่างก่อสร้าง ถือว่าสีน้ำเงิน คือโลหิตของพระวิษณุกรรม ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งการก่อสร้าง
2. รูปสามเหลี่ยมสีขาวและสีแดง มีลักษณะคล้ายหกสิบองศา ชนกันเป็นรูปหน้าจั่ว หมายถึง สถาปัตยกรรม นั่นคือ สัญลักษณ์ของช่างเทคนิคสถาปัตยกรรม ผู้ซึ่งใช้อุปกรณ์เขียนแบบมากกว่าช่างอื่น
3. รูปสามเหลี่ยมทึบสีขาวและสีเทาที่อยู่ด้านล่างของหน้าจั่ว หมายถึง คณะวิชาพื้นฐานประกอบด้วย วิชาพื้นฐาน วิชาสามัญ วิชาสัมพันธ์ วิชาเหล่านี้เป็นวิชาที่มีความสำคัญ เช่นเดียวกับวิชาชีพ ปลูกฝังให้เป็นพลเมืองดี มีคุณธรรม สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้
4. รูปสามเหลี่ยมที่เกิดจากนำรูปสามเหลี่ยมสีขาว และสีเทามาต่อเข้าด้วยกัน จะเป็นเป็นโรงสร้างหลักคาหงายขึ้นนั่นคือ แผนกวิชาช่างโยธา
5. ถ้าหมุนตราสัญลักษณ์นี้ ให้ปลายฉากสามเหลี่ยมชี้ลงมาด้านล่าง ภาพที่ปรากฏแก่สายตาคือ ภาพลูกดิ่ง ซึ่งหมายถึง ช่างสำรวจ ตราสัญลักษณ์นี้ประดับอยู่ที่ผนังข้างประตูทางขึ้นตึก 4 หรือจะเรียกว่า ตึกสี่ชั้นก็ได้ ด้านล่างของตราสัญลักษณ์เป็นปรัชญาของวิทยาลัย มีข้อความดังต่อไปนี้ “ทักษะเด่น เน้นคุณธรรม นำวิชา พัฒนาสังคม”
ต้นไม้ประจำวิทยาลัย
ต้นไม้ประจำวิทยาลัย คือ ต้นสัก ซึ่งปลูกอยู่หน้าวิทยาลัยมานานนับสิบปี ไม้สักเป็นไม้คุณภาพเยี่ยม ลวดลายสวยงาม เหมาะแก่การนำมาทำเครื่องเรือน นักศึกษาที่นี่ควรทำตนให้มีคุณค่าประดุจดั่งไม้สักในสายงานก่อสร้าง
หลักสูตรที่เปิดทำการเรียนการสอน วิทยาลัยเทคนิคดุสิต
วิทยาลัยเทคนิคดุสิต เปิดทำการเรียนการสูตร 3 หลักสูตร 5 แผนกสาขาวิชาการก่อสร้าง ประกอบไปด้วย
1. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หลักสูตร 3 ปี
- สาขาวิชาสำรวจ
- สาขาวิชาโยธา
- สาขาวิชาช่างก่อสร้าง
- สาขาวิชาสถาปัตยกรรม
- สาขาวิชาช่างเครื่องเรือนและตกแต่งภายใน
คุณสมบัติผู้เข้าสมัครศึกษาต่อระดับ ปวช.
- สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.3) หรือเทียบเท่า
- มีความประพฤติเรียบร้อย
- มีร่างกายแข็งแรงและเหมาะสมกับการเรียนในแผนกสาขานั้น ๆ
- มีความเคารพเลื่อมใส ศรัทธาต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
- มีเจตคติที่ดีต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
2. หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หลักสูตร 2 ปี
- สาขาวิชาสำรวจ
- สาขาวิชาโยธา
- สาขาวิชาช่างก่อสร้าง
- สาขาวิชาสถาปัตยกรรม
- สาขาวิชาช่างเครื่องเรือนและตกแต่งภายใน
คุณสมบัติผู้เข้าสมัครศึกษาต่อระดับ ปวส.
- สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หรือมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือเทียบเท่าทุกสาขาวิชา
- มีความประพฤติเรียบร้อย
- มีร่างกายแข็งแรงและเหมาะสมกับการเรียนในแผนกสาขานั้น ๆ
- มีความเคารพเลื่อมใส ศรัทธาต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ด้วยความบริสุทธิ์ใจ
- มีเจตคติที่ดีต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
3. หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (ระดับปริญญาตรี)
- สาขาเทคโนโลยีก่อสร้าง (ต่อเนื่อง)
คุณสมบัติผู้เข้าสมัครศึกษาต่อระดับปริญญาตรี (หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต)
- สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) สาขาวิชาการก่อสร้างหรือโยธา
- มีสุขภาพสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงหรือมีความผิดปกติที่เป็นอุปสรรคต่อการศึกษา
- เป็นผู้มีคุณสมบัติอื่นๆ ตามที่สถาบันการอาชีวศึกษากำหนด
รายละเอียด หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีการก่อสร้าง
- จัดการ ดำเนินการ ควบคุมงาน ให้คำแนะนำ แก้ปัญหางาน ในสถานที่ทำงานก่อสร้าง
- วางแผน จัดการการทำงานตามมาตรฐาน ความปลอดภัย สุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม
- วิเคราะห์ ควบคุม ตรวจสอบ แนะนำ แก้ปัญหางาน ออกแบบ เขียนแบบ ประมาณราคาเอกสารสัญญา
- จัดทำแบบปฎิบัติงานและแบบก่อสร้างจริง งานก่อสร้าง โครงสร้างและงานระบบ
- ตรวจสอบ วิเคราะห์ผล ทดสอบวัสดุงานก่อสร้างและอุปกรณ์งานระบบอาคารตามมาตรฐานที่กำหนด
สำหรับใครที่สนใจอยากศึกษาเข้าศึกษาต่อในระดับ ปวช. หรือ ปวส. กับทางวิทยาลัยเทคนิคดุสิตในปีการศึกษา 2567 สามารถสมัครได้แล้ววันนี้จนถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2566 โดยสามารถอ่านรายละเอียดการสมัคร และดาวน์โหลดใบสมัครตาม QR Code รูปด้านบน สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ 084-4190417 หรือ เพจเฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์วิทยาลัยเทคนิคดุสิต ในวันและเวลาราชการ
อ้างอิงจาก วิทยาลัยเทคนิคดุสิต, Wittayalai
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง