ข่าวภูมิภาค

ย้อนประวัติชื่อ กรุงเทพมหานคร จาก Bangkok สู่ Krung Thep Maha Nakhon

เรียกได้ว่าเกิดเป็นกระแสทั่วโลกโซเชียล หลังมีข่าว ครม.เห็นชอบการ เปลี่ยนชื่อ กรุงเทพมหานคร ภาษาอังกฤษจาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok)และในวันนี้ The Thaiger ก็จะพาทุกท่านย้อนกลับไปดูที่มาของชื่อเมืองหลวงแดนสยามตั้งแต่จุดเริ่มต้น มาจนถึงในปัจจุบันกันสักหน่อย

ย้อนประวัติศาสตร์ที่มาชื่อ กรุงเทพมหานคร จาก Bangkok สู่ Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok)

กรุงเทพมหานคร Bangkok

ชื่อเมืองหลวงภาษาอังกฤษของไทยอย่าง Bangkok ถูกบันทึกอยู่ในเอกสารของชาวฝรั่งที่ได้เข้ามาสำรวจในแดนสยามตั้งแต่สมัยอยุธยา ที่เล่าถึงเมือง “ธนบุรีศรีมหาสมุทร” ที่เดิมทีแล้วนั้น Bangkok ถูกเขียนว่า Banckocq หรือที่เรียกกันว่า บางกอกในสมัยนั้น เป็นเพียงชุมชน ชุมชนหนึ่งเท่านั้น

จนกระทั่งชุมชนดังกล่าวได้มีการขุดคลองลัด ที่สามารถขยายการคมนาคมทางน้ำเส้นทางใหม่ ที่ปลอดภัยมากขึ้นระหว่างอ่าวไทย และกรุงศรีอยุธยา กลายเป็นจุดพักเรือนานาชาติ และเป็นชุมชนที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในสมัยนั้นจนแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งเมืองในที่สุด

สำหรับชื่อบางกอกนั้น ได้ถูกบันทึกไว้ใน “พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ วัน วลิต หรือ ฟาน ฟลีต” พ่อค้าชาวเนเธอร์แลนด์ ปีพ.ศ.2182 ตรงกับช่วงสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้เล่าถึงนิทานเรื่อง ‘เจ้าอู่ทอง’ มีเนื้อหากล่าวถึงการสร้างเมือง 2 เมืองก่อนสร้างอยุธยา ความว่า ‘พระเจ้าอู่ทองได้สร้างเมืองคองขุดเทียม และบางกอก’

เชื่อกันว่า บางกอก ในปัจจุบันก็คือ กรุงเทพมหานคร ส่วนคองขุดเทียม คาดว่าคือ บางขุนเทียน บนเส้นทางคลองด่านนั่นเอง และนอกจากนี้ ในเอกสารของ นิโกลาส์ แชรแวส ทูตฝรั่งเศส ยังปรากฏคำว่า BANKOC โดยได้ระบุว่า ‘BANKOC เป็นสถานที่อันมีความสำคัญที่สุดแห่งราชอาณาจักรสยามอย่างปราศจากข้อสงสัย..’

กรุงเทพมหานคร กรุงเทพ

อีกหนึ่งข้อสันนิษฐานที่ถูกบันทึกไว้ใน “จดหมายเหตุรายวันของบาทหลวง เดอ ชวาสี” แปล และเรียบเรียงโดย หลวงสันธานวิยาสิทธิ์ (กำจาย พลางกูร) ได้มีอยู่ช่วงหนึ่งระบุไว้ว่า “บางกอกคือจังหวัดธนบุรี บาง แปลว่า บึง กอก แปลว่า น้ำ (กลายเป็นแข็ง) หรือน้ำกลับเป็นดินหรือที่ลุ่มเป็นที่ดอน

ส่วนอีกข้อสันนิษฐานหนึ่ง ที่อ้างอิงจากหนังสือ “เล่าเรื่องบางกอก” เขียนโดยอาจารย์ ส.พลายน้อย ได้เล่าว่ามีนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งให้ข้อคิดว่า คำว่า Bangkok นั้นฝรั่งแต่โบราณเขียนเป็น Bangkoh อาจมาจากคำว่า บางเกาะ และยังมีการปรากฏชื่ออยู่ในจดหมายของ ท้าวเทพสตรี ที่มีไปถึงพระยาราชกัปตันด้วย สอดคล้องกับชื่อ บางเกาะ ที่เชื่อว่าตั้งชื่อเมืองตามสภาพภูมิประเทศของลำน้ำเจ้าพระยาสายเดิมเพี้ยนเป็น บางกอก ในภายหลัง

จาก บางกอก สู่ กรุงเทพมหานคร

เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงสถาปนาบางกอกขึ้นเป็นเมืองหลวง และได้มีการพระราชทานชื่อใหม่ให้สอดคล้องกับนามพระพุทธรัตนปฏิมากรเป็น ‘ กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์

กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

ชื่อเมืองหลวงดังกล่าวมีความหมายว่า พระมหานครที่ดำรงรักษาพระมหามณีรัตนปฏิมากร เป็นแก้วอย่างดีมีสิริอันประเสริฐสำหรับพระบารมีของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ประดิษฐานกรุงเทพมหานครนี้ โดยมีชื่อเรียกในเอกสารร่วมสมัยในช่วงเวลาดังกล่าวคือ ‘กรุงรัตนโกสินทร์อินทรอยุธยา’

ในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลงสร้อยนามกรุงเทพมหานคร จาก บวรรัตนโกสินทร์ เป็น อมรรัตนโกสินทร์ และคงคำอื่นไว้ดังเดิมไว้ตามเดิม ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจากบางกอก (Bangkok) เป็นกรุงเทพแล้วก็ตาม แต่คำว่าบางกอก หรือแบงคอก ก็ยังคงติดปากชาวต่างชาติจนถึงปัจจุบัน

ปัญหาของคำว่า แบงคอก (Bangkok) ในการออกเสียง

ในปีพ.ศ.2565 ปัญหาเรื่องของสำเนียงและการออกเสียงของการใช้คำว่า Bangkok ในหลาย ๆ ประเทศอาจจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้มีการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษจาก Bangkok เป็น Krung Thep Maha Nakhon (Bangkok) เพราะเมื่ออ่านออกเสียงแล้วนั้น จะไปพ้องเสียงกับคำสแลงที่มีความหมายในเชิงลบของภาษาอังกฤษ แปลว่า “ตีอวัยวะเพศชาย”

Bangkok กรุงเทพมหานคร

ดังนั้นแล้วการเปลี่ยนชื่อในแผนที่ภูมิศาสตร์ และตามราชบัณฑิตยสถานแบบทางการ อาจมองได้ว่าเป็นมุมมองของนักภาษาศาสตร์ และนักการทูตที่ต้องการแก้ไขปัญหาในด้านความต่างของวัฒนธรรมนี้ และถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนชื่อเมืองภาษาอังกฤษแต่ Bangkok ก็ยังสามารถเรียกได้อยู่โดยที่ไม่ต้องกังวลแต่อย่างใด

อ้างอิงจาก : 1 2

เรื่อง : สิทธิโชติ ลังกากาศ
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล


? ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Thaiger

? Google Play Store
? App Store

Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button