ผู้เชี่ยวชาญเผย “อีกัวน่าเขียว” กับ “ตะกอง” ต่างกัน ช่วงแพร่ระบาดต้องเช็กให้ชัวร์
เอเลี่ยนสปีชีส์ ‘อีกัวน่าเขียว’ บุกลพบุรีทำเอาทุกคนแตกตื่น ผู้เชี่ยวชาญรีบเบรคเช็กให้ชัวร์ แท้จริงอาจเป็น ‘ตะกอง’ แม้จะคล้ายแต่ไม่ใช่สัตว์ชนิดเดียวกัน พร้อมแนะวิธีตรวจสอบก่อนจับ
ชุลมุนกันทั้งจังหวัดลพบุรีหลังชาวบ้านในพื้นที่ หมู่ที่ 3 ตำบลพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ร้องเรียนพบอีกัวน่าหลายตัวอาศัยใกล้ชิดกับชุมชน ทั้งอยู่ในแหล่งน้ำ พุ่มไม้ สร้างความเสียหายให้แก่พืชผลของชาวบ้าน และด้วยความเป็นสัตว์ต่างถิ่น หลายคนจึงกังวลหนักอีกัวน่าอาจนำเชื้อซาลโมเนลลามาแพร่ระบาดสู่คน
อย่างไรก็ตาม ‘อีกัวน่า’ ที่ชาวบ้านต่างกังวลกันนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกับ ‘ตะกอง’ อยู่ไม่น้อย ทางผู้เชี่ยวชาญจึงได้ออกมาให้ความรู้ถึงความแตกต่างของสัตว์ทั้งสองชนิด
ต่อมาทางด้านของ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกชี้แจงถึงลักษณะของอีกัวน่าและตะกอง ที่หลายคนยังเข้าใจผิด ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ความว่า
ข้อแตกต่างระหว่าง ตะกอง กับ อิกัวน่า
เมื่อวานนี้ โพสต์เตือนเกี่ยวกับเรื่องตัวอิกัวน่าเขียว ที่กลายเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ ระบาดในหลายจังหวัดของไทยเรา และก็เตือนไปว่า ถ้าไปล่ามันเพื่อควบคุมจำนวนประชากร (อิกัวน่า เป็นสัตว์ควบคุม ไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครอง) ก็ต้องระวังอย่าไปจับตัว “ตะกอง” ซึ่งเป็นกิ้งก่าหายากของไทยเรา ที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และใกล้สูญพันธุ์ เลยขอเอาข้อมูลวิธีสังเกตความแตกต่างระหว่าง ตะกอง และ อิกัวน่าเขียว มาให้ดูกันอีกครั้งนะครับ
1. ตรงแก้มทั้งสองข้างของตัวตะกอง จะเป็นปุ่มสีขาว แต่อิกัวน่าจะเป็นวงกลมใกล้คาง
2. ใต้คางตะกองจะเรียบลงไปถึงอก แต่อิกัวน่าจะมีถุงใต้คาง
3. แผงหลังตัวตะกองจะมีสีเขียวเข้มจนดำ แต่ของอิกัวน่าจะมีสีเขียว ช่วงปลายแผงจะเป็นสีชมพู
4. ตัวตะกองจะกินสัตว์เล็กเป็นอาหาร เช่นจิ้งหรีด ตั๊กแตนหรือตัวหนอนบางครั้ง แต่อิกัวน่าจะกินผักผลไม้เป็นอาหารหลัก
อย่างไรก็ดี ก่อนการล่าหรือการจับอิกัวน่า ประชาชนควรระมัดระวังและตรวจสอบให่ถี่ถ้วนว่าสัตว์ดังกล่าวเป็น ‘อีกัวน่าเขียว’ หรือ ‘ตะกอง’
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง