การเงินเศรษฐกิจ

สรุปแล้ว เงินดิจิทัล 10,000 บาท ใช้ผ่านเป๋าตัง เริ่มเดือนพฤษภาคม 67

ยืนยันแล้ว โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท ใช้ผ่านเป๋าตังเหมือนเดิม เริ่มใช้งานจริงเดือนพฤษภาคม 2567 ทุ่มงบรวม 5 แสนล้านบาท

วันนี้ (10 พ.ย. 66) นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ออกมาแถลงถึงโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยได้ระบุว่า เงินดิจิทัลจะถูกแจกให้กับคนไทยที่อายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีรายได้เดือนละไม่เกิน 70,000 บาท และมีเงินฝากน้อยกว่า 500,000 บาท

สำหรับช่องทางการใช้งานเงินดิจิทัล จะต่อยอดระบบเป๋าตัง เนื่องจากมีประชาชนลงทะเบียนในโครงการที่ผ่านมาแล้วกว่า 40 ล้านคน อีกทั้งยังมีร้านค้าร่วมลงทะเบียนมากถึง 1.8 ล้านราย และแอปพลิเคชั่นเป๋าตังก็มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยลดเวลา ประหยัดงบประมาณ และลดความซ้ำซ้อนในการสร้างและรักษาระบบลงไปได้

นอกจากนี้กระทรวงการคลังเองก็มีความคุ้นเคย ในการกำกับดูแลและบริหารจัดการในการป้องกันการทุจริตต่าง ๆ เป็นอย่างดี ซึ่งจะพัฒนาต่อยอดเป๋าตังให้ทำงานโดยมีระบบล็อคเชนเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากระบบบล็อคเชนจะทำให้รัฐป้องกันการทุจริตได้ดีขึ้น ซึ่งหากใครฝ่าฝืนหรือทุจริต ระบบก็จะตรวจสอบได้ทันที

ทั้งนี้การมีระบบบล็อคเชนจะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล และ E-Government เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง สร้างความโปร่งใส และลดการทุจริต ได้อย่างเป็นรูปธรรม

ไทม์ไลน์โครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ใช้ได้เมื่อไหร่?

  • เริ่มต้นตีความโดยกฤษฎีกาและดำเนินกระบวนการสภาฯ เดือนพฤศจิกายน 2566
  • โครงการ R-Refund เริ่มเดือนมกราคม 2567
  • โครงการดิจิทัลวอลเล็ต เริ่มเดือนพฤษภาคม 2567
  • โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถ เริ่มเดือนมิถุนายน 2567

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้กล่าวว่า นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนี้ มีประชาชนเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ผ่านการใช้จ่ายตามสิทธิ 10,000 บาท โดยทุกท่านจะเป็นผู้เพิ่มความมั่งคั่งและมั่นคงให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย.

Eye Chanoknun

นักเขียนประจำ Thaiger จบจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีประสบการณ์เขียนงานผ่านเว็บไซต์ด้านความงามและแฟชั่นชื่อดังของไทยมากกว่า 3 ปี ปัจจุบันชื่นชอบการเขียนข่าวบันเทิง ภาพยนตร์ ซีรีส์ k-pop และไลฟ์สไตล์ เพื่อนำมาบอกเล่าผ่านตัวอักษร ด้วยมุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ ชวนให้ติดตาม ช่องทางติดต่อ eye@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button