การเงินเศรษฐกิจ

ลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง เตรียมตัวให้พร้อมก่อนยื่นภาษี

จดให้ไว รวมรายการลดหย่อนภาษี 2566 ทั้งค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ครอบครัว เงินประกัน เงินบริจาค และเงินจากมาตรการรัฐ บริหารให้ดีอาจจ่ายภาษีน้อยลง คำนวณให้ดีก่อนยื่นจ่ายภาษี

เข้าสู่ช่วงการวางแผนลดหน่อยภาษี ประจำปี 2566 กำหนดให้ยื่นแบบภาษีเงินได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2567 หรือจะยื่นผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ได้ถึง 8 เมษายน 2567 ผู้ที่มีรายได้ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำ ฟรีแลนซ์หลายท่านคงจะปวดหัวกันน่าดู ต้องมานั่งคำนวณภาษีกันหัวหมุนไปหมด แถมยังต้องวางแผนลดหย่อยภาษี เพื่อที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายกันอีกด้วย แต่ถึงอย่างนั้นมนุษย์วัยทำงานทั้งหลายก็อย่าเพิ่งตาลาย เพราะวันนี้เราเตรียมลิสต์รายการลดหย่อนภาษีจากกรมสรรพากรมาให้ทุกท่านแล้ว เตรียมตัวให้ดีจะได้ไม่พลาดสิทธิลดหย่อนภาษี

ใครลดหย่อนภาษีได้บ้าง

ผู้มีเกณฑ์เสียภาษีเงินได้ทุกคนมีสิทธิลดหย่อนภาษี โดยระหว่างยื่นแบบต้องระบุค่าลดหย่อนลงไปด้วย ชี้แจงรายการใช้จ่ายที่กฎหมายกำหนดเพื่อให้ผู้ที่มีเงินได้สามารถนำไปหักออกจากเงินได้ หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วเพิ่มเติมได้ ยิ่งมีค่าลดหย่อนมากเท่าไหร่ จะยิ่งทำให้คุณจ่ายภาษีน้อยลง เนื่องจากเหลือเงินได้สุทธิที่ลดลง

ส่วนวิธีการคำนวณภาษีขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ที่มีรายได้สุทธิต่อปีเกิน 150,000 บาทต่อปี มีวิธีการคำนวณง่าย ๆ ผ่าน 2 สูตรคำนวณภาษีขั้นพื้นฐาน ดังนี้

  • สูตรคำนวณหาเงินได้สุทธิ รายได้ (ต่อปี) – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
  • สูตรคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายเงินได้สุทธิ เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย

ลดหย่อนภาษี 2566 มีอะไรบ้าง รายการพื้นฐานที่ใช้ได้

รายการลดหย่อนภาษีตามที่กฎหมายกำหนด อ้างอิงจากกรมสรรพากร ในแต่ละปีจะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้การสนับสนุน และออกมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามาลงทุนมากยิ่งขึ้น ฉะนั้นแล้วในแต่ปี 2566 มีรายการลดหย่อนภาษีที่ใช้ได้ดังนี้

ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

1. ลดหย่อนส่วนบุคคล หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท เป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ที่มีรายได้ทุกคนที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ทันที

2. ค่าลดหย่อนคู่สมรส หักค่าลดหย่อนได้ 60,000 บาท คู่สมรสจะต้องไม่มีรายได้ และจดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมาย หากคู่สมรสมีรายได้ต้องพิจารณาว่าต้องการยื่นรายได้รวมกันหรือแยกกัน

3. ค่าลดหย่อนบุตร หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ไม่จำกัดจำนวนบุตร มีเงื่อนไขคือต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายและบุตรบุญธรรม ให้หักจากบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายก่อน แล้วค่อยหักด้วยบุตรบุญธรรม

เว้นแต่มีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายมากกว่า 3 คน จะนำบุตรบุญธรรมมาหักไม่ได้ แต่ถ้าบุตรชอบด้วยกฎหมายมีจำนวนไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรบุญธรรมมาหักได้ โดยเมื่อรวมกับบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้วต้องไม่เกิน 3 คน

4. ค่าลดหย่อนบุตรบุญธรรม หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 3 คน หากมีบุตรชอบด้วยกฎหมาย จะต้องใช้และนับสิทธิก่อน หากใช้ครบแล้ว 3 คน จะไม่สามารถใช้สิทธิบุตรบุญธรรมได้อีก

5. ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร หักได้ตามจริงที่จ่ายให้สถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท/การตั้งครรภ์ หากเป็นครรภ์ฝาแฝดจะนับเป็น 1 การตั้งครรภ์

6. ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา หักค่าลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท ทั้งนี้ บิดามารดามีอายุ 60 ปีขึ้นไป และไม่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 30,000 บาทในปีภาษี

7. ค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ หักค่าลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท ทั้งนี้ คนพิการหรือคนทุพพลภาพต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินเกิน30,000 บาทในปีภาษี

ลดหย่อนภาษี 2566 ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว

ค่าลดหย่อนภาษีด้วยประกัน การออมเงิน และการลงทุน

1. เงินสมทบกองทุนประกันสังคม หักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 9,000 บาท เป็นเงินที่บังคับหักเข้ากองทุน 5% ของเงินเดือนทุกเดือน ขั้นต่ำ 83 บาท/เดือน และสูงสุด 750 บาท/เดือน

2. เบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันแบบสะสมทรัพย์ แบ่งได้ออกเป็นประกันชีวิตลดหย่อนภาษีได้เท่ากับเบี้ยที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท กรรมธรรม์ที่ทำต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และมีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของดอกเบี้ย

3. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ และเบี้ยประกันอุบัติเหตุเฉพาะความคุ้มครองสุขภาพ หักค่าลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ต้องไม่เกิน 25,000 บาท ทั้งนี้เมื่อนำเบี้ยประกันสุขภาพ ประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์มารวมกัน จะลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

4. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หักค่าลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท และจะต้องเป็นกรรมธรรม์ที่มีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ต้องทำกับบริษัทประกันชีวิตที่ประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น ต้องมีเงื่อนไขการจ่ายผลประโยชน์เป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ และต้องกำหนดช่วงอายุของการจ่ายเมื่อผู้มีเงินได้อายุตั้งแต่ 55-85 ปีขึ้นไป

5. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพของบิดามารดา สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนภาษีเท่าที่จ่ายจริง และเมื่อรวมทั้งบิดาและมารดาต้องไม่เกิน 15,000 บาท โดยที่บิดามารดาต้องมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ในส่วนนี้จะไม่มีเงื่อนไขอายุของบิดามารดาที่ต้องครบ 60 ปีขึ้นไป

6. เงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ 15% ของเงินได้ ตามจำนวนที่จ่ายจริง และต้องไม่เกิน 500,000 บาท

7. เงินสะสมกองทุนการออมแห่งชาติ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท

8. การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เงินที่ลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง RMF (Retirement Mutual Fund) สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท

9. การลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม เงินที่ซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี SSF (Super Saving Funds) สามารถนำมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง โดยจะลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ และสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท

10. เงินลงทุนธุรกิจวิสาหกิจเพื่อสังคม หักค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท แต่จะต้องลงทุนหรือลงหุ้นในธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมภายในข้อกำหนดของ พ.ร.บ. ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม 2562 หากเป็นการลงทุนในหุ้น มีข้อบังคับให้ต้องถือหุ้นจนกว่าวิสาหกิจเพื่อสังคมนั้น ๆ จะเลิกกิจการ

รายการลดหย่อนภาษี 2566 ค่าลดหย่อนภาษีด้วยประกัน

ค่าลดหย่อนภาษีด้วยการบริจาค

1. เงินบริจาคทั่วไป เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน

2. เงินบริจาคลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน ได้แก่ สถานศึกษา สถานพยาบาลของรัฐ การบริจาคผ่าน e-Donation

3. เงินบริจาคแก่พรรคการเมือง สามารถนำมาลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท

รายการลดหย่อนภาษี 2566 ค่าลดหย่อนภาษีด้วยการบริจาค

ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมผ่านมาตรการรัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

1. ดอกเบี้ยบ้าน สามารถนำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยมาหักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง และสูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท

2. ช้อปดีมีคืน สำหรับลดหย่อนภาษี 2566 สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 40,000 บาท ค่าลดหย่อน 30,000 บาทแรก ต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ ทั้งแบบกระดาษ และแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e-Tax Invoice & e-Receipt ของกรมสรรพากร ส่วนอีก 10,000 บาทที่เหลือจะต้องมีใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบ เฉพาะแบบอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น

รายการลดหย่อนภาษี 2566 ลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมผ่านมาตรการรัฐ

วิธีตรวจสอบสิทธิลดหย่อนภาษี 2566 ที่ทำได้ด้วยตัวเอง

หากมนุษย์คนเดือนที่ต้องเสียภาษียังไม่รู้รายละเอียดที่เกี่ยวกับการตรวจสอบสิทธิลดหย่อนภาษีประจำปี 2566 ท่านสามารถดำเนินการตรวจสอบสิทธิได้ง่าย ๆ ด้วยตัวเองเพียงแค่ทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. เข้าไปที่เว็บไซต์ กรรมสรรพกร

2. คลิกเลือกเมนู My Tax Account เพื่อตรวจสอบข้อมูลภาษี รวมถึงค่าลดหย่อน

3. เลือกรายการลดหย่อนเพื่อตรวจสอบ

ลดหย่อนภาษี 2566 วิธีตรวจสอบสิทธิ

รายได้เท่านี้จะต้องเสียภาษีเท่าไหร่บ้าง

สำหรับการชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้กำหนดเอาไว้ว่าผู้ที่มีรายได้สุทธิต่อปีน้อยกว่า 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นภาษี ถ้าหากรวมแล้วได้รายได้เกิน 150,000 บาท จะต้องเสียภาษีอัตราตามขั้นบันได 5-35% อัตราภาษีจะแบ่งตามช่วงรายได้ดังนี้

  • รายได้ตั้งแต่ 150,001-300,000 บาท เสียภาษี 5%
  • รายได้ตั้งแต่ 300,001-500,000 บาท เสียภาษี 10%
  • รายได้ตั้งแต่ 500,001-750,000 บาท เสียภาษี 15%
  • รายได้ตั้งแต่ 750,001-1,000,000 บาท เสียภาษี 20%
  • รายได้ตั้งแต่ 1,000,001-2,000,000 บาท เสียภาษี 25%
  • รายได้ตั้งแต่ 2,000,001-5,000,000 บาท เสียภาษี 30%
  • รายได้ตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไป เสียภาษี 35%

อ้างอิงข้อมูลจากกรมสรรพากร

 

Wilasinee

นักเขียนที่ Thaiger เชี่ยวชาญข่าวบันเทิงและบทความไลฟ์สไตล์ จบการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงรู้ลึกรู้จริงทั้งเรื่องวิชาการและเทรนด์กระแสโซเชียลที่สำคัญ มีประสบการณ์เขียนบทความออนไลน์กว่า 2 ปี งานอดิเรกชอบติดตามข่าวเศรษฐกิจ การลงทุน ติดต่อได้ที่ wilasinee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button