เปิดความจริงที่ต่างจากละครกับจุดจบของ “จอร์จ ฟอลคอน” ลูกชายท้าวทองกีบม้าจากพรหมลิขิต ตามหลักฐานไม่ได้เสียชีวิตขณะทำภารกิจให้พระเจ้าท้ายสระ
ในละครพรหมลิขิต EP.8 ออกอากาศไปเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน 2566 หนึ่งในละครใหม่ที่สำคัญอย่าง จอร์จ ฟอลคอน หรือ ยอร์ช ฟอลคอน ได้เสียชีวิตลงขณะทำภารกิจสำคัญให้พระเจ้าท้ายสระ ท่ามกลางความตกอกตกใจของผู้ชม และความสงสัยใคร่รู้ บรรดาแฟน ๆ ต่างออกมาตั้งคำถามถึงเรื่องราวความจริงตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์กันไม่น้อยว่าแท้จริงแล้วจอร์จ ฟอลคอนเสียชีวิตลงเช่นนี้หรือไม่
จุดจบชีวิตจอร์จ ฟอลคอนนั้นถูกบันทึกไว้อย่างแตกต่างกันจาก 2 หลักฐาน สำหรับหลักฐานแรก ที่ได้ระบุไว้ในเอกสาร “Journal of the Siam Society” ใน “An Early British Merchant in Bangkok” โดย Moore, R. Adey ได้ปรากฏแผนผังตระกูลของ แองเจลิน่า หรือ ท่านผู้หญิงทรัพย์ ภรรยาของโรเบิร์ต ฮันเตอร์ หรือ นายห้างหันแตร ที่ต่อมาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงอาวุธวิเศษประเทศพานิช ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทั้งนี้ ในแผนผังสืบสาแหรกได้มีการระบุว่า คอนสแตนติน ฟอลคอน แต่งงานกับหญิงคาทอลิกชาวญี่ปุ่น ซึ่งก็หมายถึงท้าวทองกีบม้า มีบุตรชายคาดว่าจะเป็นจอร์จ ฟอลคอน เขาเข้ารับราชการในแผ่นดินสยาม ก่อนจะถูกส่งไปทำงานต่างแดนในฐานะทูต ที่ ปอนดิเชอรี เมืองท่าของฝรั่งเศส ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย ต่อมาจอร์จได้แต่งงานกับหญิงชาวโปรตุเกส มีลูกชายด้วยกัน 1 คน คือ จอห์น ฟอลคอน และลูกผู้หญิงอีกหลายคน ซึ่งเหลนของจอร์จ ฟอลคอน ก็คือ แองเจลิน่า หรือ ทรัพย์ เกิดในปี พ.ศ. 2348 (รัชกาลที่ 1) พร้อมระบุด้วยว่า จอร์จ ฟอลคอนใช้ชีวิตไปจนถึงวัยชรา โดยเสียชีวิตในปี ค.ศ. 1754 หรือ พ.ศ. 2297 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ในขณะเดียวกัน รอมแพง ผู้ประพันธ์บทละครพรหมลิขิต ได้ออกมาชี้แจงถึงสาเหตุการตายที่แท้จริงของจอร์จ ฟอลคอน ผ่าน X (ทวิตเตอร์) ที่ใช้ชื่อบัญชีว่า @vivaoui โดยอ้างอิงจากอีกหนึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ความว่า “ตามหลักฐานชั้นต้นจดหมายของมิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีสในสยามที่เขียนใน ค.ศ. 1711 (พ.ศ. 2254) ยืนยันว่า จอร์จ ฟอลคอน เสียชีวิตตั้งแต่ ค.ศ. 1709 (พ.ศ. 2252) ปีที่พระเจ้าท้ายสระขึ้นครองราชย์ ในนิยายจอร์จมีลูกชายลูกสาวค่ะทำให้แม่มะลิต้องเข้มแข็งเลี้ยงหลาน”
อย่างไรก็ตาม การออกมาชี้แจงของรอมแพงจากการอ้างอิงตามจดหมายของมิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศกรุงปารีสในสยามนั้นได้ให้ข้อมูลที่แตกต่างออกไปจากเรื่องราวที่ถูกบันทึกไว้ในเอกสาร “Journal of the Siam Society” ทั้งนี้ เรื่องราวที้แท้จริงจะเป็นเช่นไรนั้นก็คงไม่มีผู้ใดทราบได้ แต่คงยืนยันได้เพียงว่าจุดจบชีวิตของจอร์จ ฟอลคอนไม่ได้เป็นเช่นในละคร