สุขภาพและการแพทย์ไลฟ์สไตล์

นอนกลางวัน ข้อเสียที่คุณควรรู้ งีบอย่างไรให้ไม่ปวดหัวหลังตื่น

บางครั้งการงีบหลับระหว่างวันก็ไม่ได้ช่วยให้ร่างกายของคุณได้พักผ่อน และกลับทำให้ทำลายสุขภาพหนักกว่าเก่า เปิดสาเหตุอาการปวดหัวหลังตื่นนอน พร้อมแนะนำการนอนที่ถูกต้อง

ตกบ่ายทีไรอาการง่วงเหงาหาวนอนก็มักจะรบกวนสมาธิของคุณอยู่ร่ำไป หากเรียนอยู่ก็พาให้สติหลุดลอย หากทำงานก็พาให้สมองตื้อจนงานไม่เดิน จนบางทีก็เกิดความคิดที่ว่าหากได้งีบหลับเพิ่มพลังให้แก่ร่างกายสักหน่อยก็คงจะดีไม่น้อย แต่การนอนกลางวันอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนักสำหรับผู้ต้องการพักผ่อน เพราะจะทำให้กลางคืนกลับตาสว่างนอนไม่หลับ การงีบระหว่างวันอาจส่งผลเสียต่อคุณมากกว่าเดิม

Advertisements

ข้อเสียของการนอนกลางวัน เปิดความจริงที่คุณควรรู้ งีบอย่างไรให้ไม่ปวดหัวหลังตื่น

นอนกลางวัน ข้อเสียที่คุณไม่ควรมองข้าม

หลายคนคิดว่าการงีบหลับระหว่างวันช่วยให้สมองสดชื่นขึ้น แต่กลับกัน บางคนตื่นมาแล้วมีอาการปวดหัว อ่อนเพลีย เนื่องจากระยะเวลาการนอนสั้น ๆ กระทบต่อวงจรการนอนหลับปกติ กระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน ทำกิจกรรม โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาหลับยากตอนกลางคืน ควรหลีกเลี่ยงการนอนกลางวัน เพราะจะทำให้นอนกลับตอนกลางคืนยากขึ้น

ข้อเสียของการนอนกลางวัน

การนอนกลางวันเป็นระยะเวลานานจนเกินไปเป็นปัจจัยที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด ผลของงานวิจัยชิ้นหนึ่งได้ระบุว่า บุคคลที่งีบหลับนานกว่า 1 ชั่วโมงอาจมีความเสี่ยงสูงที่ก่อให้เกิดอาการป่วยมากกว่ากลุ่มที่ไม่นอนกลางวัน และจะร้ายแรงยิ่งขึ้นหากคุณอยู่ในวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย เพราะการงีบหลับนานเกินไปอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และภาวะซึมเศร้า

นอกเหนือจากผลเสียที่จะตามของปัญหาสุขภาพทั้งหลายแล้วนั้น การนอนกลางวันเป็นเวลานานอย่างสม่ำเสมอ จะส่งผลให้บุคคลนั้น ๆ มีภาวะนอนไม่หลับ กลไกการทำงานของร่างกายผิดธรรมชาติ วงจรเวลาชีวิตแปรปรวน

Advertisements

สาเหตุอาการปวดหัวหลังนอนกลางวัน

บางครั้งการงีบหลับก็ไม่ทำให้คุณรู้สึกกระปรี้กระเปร่า ทั้งยังพาให้ปวดหัวอีกต่างหาก เหตุเพราะผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนมักจะประสบกับอาการมึนหัวหลังงีบหลับมากกว่าบุคคลทั่วไปถึง 2-8 เท่า ยืนยันโดยสถาบันการนอนแห่งชาติในสหรัฐอเมริกา

นอกจากนั้นผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ไม่ว่าเป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ การนอนกัดฟัน การตั้งครรภ์ รวมถึงท่าทางการนอนที่ไม่ถูกต้อง และระยะเวลาการนอนที่ไม่เหมาะสมก็เป็นอีกปัจจัยของอาการดังกล่าวเช่นกัน

ระยะเวลาในการงีบหลับที่จะไม่ทำให้คุณปวดหัว

ระยะเวลาการงีบหลับที่จะช่วยเพิ่มความสดชื่นและความตื่นตัวให้กับร่างกายและสมองของคุณได้ดีที่สุด คือ การงีบหลับที่ไม่เกิน 10-20 นาที เมื่อใดที่หลับนานกว่า 20 นาที ความรู้สึกง่วงงุนอ่อนเพลียจะยิ่งทวีคูณมากกว่าเดิม สำหรับผู้เผชิญปัญหาง่วงจากการนอนหลับไม่เพียงในเวลากล่างคืน ระยะเวลาการงีบหลับที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 1 ชั่วโมง 30 นาที – 2 ชั่วโมง

ข้อเสียของการนอนกลางวัน งีบอย่างไรให้ไม่ปวดหัวหลังตื่น

งีบหลับเวลานี้เหมาะสมที่สุด

ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การงีบหลับนั้นจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับเวลาการตื่นนอนของแต่ละบุคคล และปัจจัยทางด้านอายุ โดยส่วนใหญ่แล้ว ช่วงเวลาที่ดี คือ ช่วงบ่ายตั้งแต่บ่ายโมงไปจนถึงบ่ายสามโมง หรือหลังมื้อกลางวันนั่นเอง แต่หากผ่านพ้นเวลาบ่ายสามโมงเป็นต้นไปไม่ควรงีบหลับเป็นอันขาด เพราะจะส่งผลต่อการนอนหลับในยามกลางคืน จนกลายเป็นปัญหาการนอนหลับที่ไม่จบไม่สิ้น

อย่างไรก็ดี แม้การงีบหลับจะมีผลเสียมากมาย แต่หากบรรดาคุณ ๆ จัดการเวลาในการนอนทั้งในยามกลางคืน และการนอนกลางวันได้ดีตามระยะเวลาที่เหมาะสมและตามช่วงเวลาที่เหมาะสม เพียงเท่านี้การนอนกลางวันของคุณก็จะไม่ทำลายสุขภาพระยะยาวอีกต่อไป

ข้อมูลจาก primocare

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button