ประวัติ ‘วันลอยกระทง’ 2565 เปิดที่มาประเพณีไทย ขอขมาพระแม่คงคา

เปิดประวัติ “วันลอยกระทง” 8 พฤศจิกายน 2565 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ จัดขึ้นเพื่อขอขมาและขอพรต่อพระแม่คงคาให้เกิดความเป็นสิริมงคลด้วยกระทงที่ประดับด้วยดอกไม้ ธูปเทียน แล้วนำไปลอยตามแม่น้ำลำธาร มีตำนานความเชื่ออย่างไรบ้าง เข้ามาดูประวัติเทศกาลวันลอยกระทงกันได้เลย
วันลอยกระทง (ภาษาอังกฤษ : Loy Krathong Festival) ปีนี้ตรงกับวันอังคารที่ 8 พฤศจิกายน 2565 หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของล้านนาโบราณ ซึ่งเป็นวันพระจันทร์เต็มดวงทำให้ค่ำคืนในเทศกาลลอยกระทงมีบรรยากาศสวยงามและสว่างสดใสกว่าคืนอื่น ๆ มีจุดประสงค์เพื่อทำพิธีขอขมาต่อพระแม่คงคา ประวัติความเป็นมาวันลอยกระทงในไทยเชื่อว่าได้สืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง อีกทั้งเทศกาลลอยกระทงยังเป็นประเพณีที่นิยมในประเทศแถบเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีนตอนใต้ ลาว เมียนมา กัมพูชา ซึ่งการจัดกิจกรรมลอยกระทงจะมีการนำดอกไม้ ธูปเทียนหอม และของประดับต่าง ๆ ใส่ลงในกระทงที่ทำขึ้น แล้วนำไปลอยตามแม่น้ำบริเวณนั้นเพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคาหรือเทพท้องถิ่นในพื้นที่นั้น ๆ เหมือนกับวันลอยกระทงในประเทศไทย
ประวัติประเพณี “ลอยกระทง” ในประเทศไทย
สำหรับประวัติประเพณีลอยกระทงในประเทศไทย ยังไม่มีหลักฐานช่วงเวลาที่เริ่มเทศกาลแน่ชัด คาดว่าเกิดจากการรับวัฒนธรรมเก่าแก่จากอินเดียเข้ามาในตอนนั้น โดยมีเพียงหลักฐานย้อนกลับไปในยุคสุโขทัย รัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง มีบันทึกเรียกประเพณีลอยกระทงว่า พิธีจองเปรียบ หมายถึงการลอยพระประทีป เพราะเดิมทีใช้โคมลอยแทนกระทงอย่างในปัจจุบัน
ประเพณีลอยกระทงตามคติความเชื่อของชาวสุโขทัย มีจุดประสงค์เพื่อสักการะเทพเจ้าทั้ง 3 องค์ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ และพระพรหม เวลาต่อมาได้มีการนำความเชื่อด้านพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนสุโขทัย ทำให้มีการลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท และบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และพัฒนาต่อตามรูปแบบความเชื่อในแต่ละช่วงเวลานั่นเอง อย่างเช่นการใส่เหรียญในกระทง หรือการประกวดนางนพมาศในวันลอยกระทงที่มักเห็นในประเทศไทยปัจจุบัน
ที่มานางนพมาศ “วันลอยกระทง”
มีหลักฐานในศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งกล่าวถึง นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ที่เป็นผู้ประดิษฐกระทงขึ้นครั้งแรก มีความเกี่ยวข้องกับ งานเผาเทียนเล่นไฟ หรืองานเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในกรุงสุโขทัย ณ เวลานั้น คาดการณ์ว่า “งานเผาเทียนเล่นไฟ” อาจเป็นการจัดประเพณีลอยกระทงในสมัยก่อน โดยการใช้ดอกบัวลอยไปตามแม่น้ำลำธาร
เวลาล่วงเลยผ่านไปจนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ในหลวงรัชกาลที่ 2 ได้ริเริ่มให้ใช้ต้นกล้วยในการลอยกระทงแทน แต่ทรงเห็นว่าดูแล้วไม่สวยงดงาม จึงเปลี่ยนมาใช้การพับใบตองและสืบทอดการลอยกระทงมาจนถึงปัจจุบัน

ทำไมต้องลอยกระทง ?
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเทศกาลวันลอยกระทงไม่ได้มีแค่เฉพาะที่ประเทศไทย แต่ยังรวมถึงประเทศลาว กัมพูชา เมียนมา ประเทศจีนตอนใต้ และพื้นที่ในแถบเอเชียอาคเนย์อีกด้วย ทั้งนี้ในแต่ละท้องที่ก็จะมีจุดประสงค์ของการลอยกระทงแตกต่างออกไป ไม่ว่าจะเป็นการลอยกระทงเพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา ที่ได้ให้ ได้ใช้น้ำจากแหล่งน้ำ
เป็นการสะเดาะเคราะห์เปรียบกระทงเป็นความทุกข์ในชีวิต นำไปปล่อยในแม่น้ำ เพื่อให้สิ่งไม่ดีต่าง ๆ ล่องลอยมลายหายไปในแม่น้ำ หรือจะเป็นการบูชาเทพ พระอุปคุต สำหรับชาวไทยภาคเหนือ ที่มีตำนานเล่าว่าพระอุปคุตเป็นหนึ่งในเป็นพระมหาเถระ ที่สามารถปราบพญามารและภูติผีปีศาจได้
นอกจากเหตุผลด้านความเชื่อแล้ว เทศกาลลอยกระทงมักจัดขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลอง หรือการพบปะสังสรรค์กับญาติมิตรในครอบครัวอีกด้วย
เทศกาลลอยกระทงในไทย ประจำปี 2565
สำหรับงานลอยกระทงในประเทศไทย ประจำปี 2565 ถูกจัดขึ้นหลายภาคส่วน ตั้งแต่งานลอยกระทงสุโขทัย งานลอยกระทงเชียงใหม่(ยี่เป็ง) งานลอยกระทงชลบุรี และงานลอยกระทงกรุงเทพ ฯลฯ ซึ่งมีกิจกรรมมากมายและหลากหลายต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลวันลอยกระทงตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565
ลอยกระทงกรุงเทพ 2565
เทศกาลลอยกระทงสุโขทัย 2565
เทศกาลยี่เป็งเชียงใหม่ 2565
อย่างไรก็ตามงานเทศกาลวันลอยกระทง 2565 จัดขึ้นเพื่อขอขมาต่อพระแม่คงคา ดังนั้นกระทงที่จะนำมาลอยในแม่น้ำควรเป็นกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ หรือใครไม่อยากออกมาลอยกระทงนอกบ้านก็สามารถลอยกระทงออนไลน์ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้เลยนะครับ.
อ้างอิง : 1