เปิดตำนาน พันท้ายนรสิงห์ ในยุคสมัยพระเจ้าเสือ เรื่องจริงหรือแค่ข่าวลือเล่าขาน เหตุใดตัวละครในเรื่อง “พรหมลิขิต” ถึงไม่มีใครรู้จัก
หลายคนน่าจะต้องเคยได้ยินเรื่องเล่า ตำนานพันท้ายนรสิงห์ นายท้ายเรือผู้ถูกประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะ ในสมัยการครองราชย์ของพระเจ้าเสือ หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 เพราะทำเรือพระที่นั่งเอกชัยหักขณะแล่นผ่านคลองที่น้ำเชี่ยว ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่า พันท้ายนรสิงห์ มีตัวตนอยู่จริงหรือไม่ เพราะแม้แต่ตัวละครในซีรีส์ดังอย่าง “พรหมลิขิต” ยังไม่รู้เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์เลยสักคนเดียว
ทำไมตัวละคร “พรหมลิขิต” ไม่รู้จักตำนาน “พันท้ายนรสิงห์”
ในตอนที่ 3 ของละครเรื่องพรหมลิขิต ที่ออกอากาศเมื่อคืนวันพุธที่ 25 ตุลาคม 2566 มีฉากหนึ่งที่พุดตานซึ่งเป็นตัวละครจากชาติปัจจุบัน ได้พูดถึง “พันท้ายนรสิงห์” กับผู้คนในสมัยอยุธยา ปรากฏว่าไม่มีใครรู้จักเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ที่ถูกฟันคอเพราะทำหัวเรือพระเจ้าเสือหักเลย จนหลายคนสงสัยว่าพันท้ายนรสิงห์มีเรื่องราวอย่างไรกันแน่?
ตำนานพันท้ายนรสิงห์ สมัยรัชกาลพระเจ้าเสือ
ชื่อของพันท้ายนรสิงห์ ถูกกล่าวถึงครั้งแรกในพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม ซึ่งอ้างถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าเสือ หรือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 ช่วงปี 2477
จากพงศาวดารได้มีการระบุว่า พันท้ายนรสิงห์คือนายท้ายเรือพระที่นั่งเอกชัยของพระเจ้าเสือ ขณะที่พระองค์เสด็จประพาส ปากน้ำเมืองสาครบุรีเพื่อทรงเบ็ด ทว่าในช่วงที่ผ่านคลองในโคกขาม ได้เกิดกระแสน้ำไหลเชี่ยว จนหัวเรือหักโดยที่พันท้ายนรสิงห์ไม่สามารถหาวิธีแก้ปัญหาได้ทัน
เมื่อพ้นช่วงวิกฤตแล้วพันท้ายนรสิงห์จึงกระโดดขึ้นฝั่ง แล้วกราบทูลพระเจ้าเสือให้ทรงลงพระอาญามากถึง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกพระเจ้าเสือพระราชทานอภัยโทษให้ ก่อนจะสั่งตัดหัวรูปปั้นปลอมของพันท้ายนรสิงห์ในครั้งที่สอง ทว่าพันท้ายนรสิงห์กลับได้ทูลขอโทษตามที่กำหนด พระเจ้าเสือจึงสั่งประหารชีวิตด้วยการตัดศีรษะพันท้ายนรสิงห์ตามที่ต้องการ
“ถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหัก ผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศีรษะเสีย”
นอกจากนี้ยังมีการเล่าต่อกันว่า ศีรษะของพันท้ายนรสิงห์ได้ถูกนำไปไว้บูชาในศาลเพียงตา ส่วนศพถูกพระราชทานเพลิงศพอย่างสมเกียรติ อีกทั้งพระเจ้าเสือยังได้พระราชทานทรัพย์สมบัติให้กับครอบครัวของพันท้ายนรสิงห์ด้วย
ต่อมาพระเจ้าเสือได้ทรงมีรับสั่งให้ขุดคลองโคกขามเพื่อแก้ปัญหาความคดเคี้ยวและกระแสน้ำเชี่ยว ซึ่งการขุดคลองดังกล่าวได้แล้วเสร็จช่วงปี 2252 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ ซึ่งปัจจุบันถูกเรียกว่า คลองมหาชัย (คลองสนามไชย)
ทั้งนี้ศาลพันท้ายนรสิงห์แห่งแรก ปัจจุบันได้ตั้งอยู่ที่ปากคลองโคกขาม ตำบลพันท้ายนรสิงห์ อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งลือกันว่าศาลได้ถูกตั้งไว้ในตำแหน่งเดียวกับที่ท่านถูกฟันคอพอดิบพอดี
ทำไมตัวละครพรหมลิขิต ไม่รู้จักพันท้ายนรสิงห์ ในยุคพระเจ้าเสือ
ข้อมูลของพันท้ายนรสิงห์ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกถกเถียงกันมาอย่างยาวนาน เพราะพระราชพงศาวดารแต่ละฉบับ ได้มีการระบุเรื่องราวที่เกิดขึ้นในยุคพระเจ้าเสือต่างกัน
หากอ้างอิงจากพระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม ได้มีเขียนบันทึกเรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ไว้ ในฐานะนายท้ายเรือพระที่นั่งของพระเจ้าเสือที่ถูกประหารชีวิตในปี 2477 ทว่าในพงศาวดารบางฉบับอย่างพันจันทนุมาศ กลับไม่มีการกล่าวถึงตำนานของพันท้ายนรสิงห์ไว้แต่อย่างใด
ทำให้มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่า เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ไม่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เป็นเพียงตำนานที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อเชื่อมโยงกับเรื่องราวการสั่งขุดคลองโคกขาม ซึ่งแม้แต่ในประเด็นนี้เองก็ยังมีข้อโต้แย้งว่า คลองโคกขามได้ถูกสั่งขุดมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าเสือจริง หรือเพิ่งมีการขุดในสมัยพระเจ้าท้ายสระกันแน่?
นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหนึ่งความเชื่อเรื่องพันท้ายนรสิงห์ ที่ได้มีการระบุเอาไว้ว่า เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์อาจเกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง กล่าวคือมีเพียงคนในพระราชสำนักที่ใกล้ชิดกับพระเจ้าเสือและอยู่ในเหตุการณ์หัวเรือหักเท่านั้นที่จะทราบ จึงไม่แปลกที่ผู้คนในอยุธยาจะไม่รู้เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์ตามที่เรารู้จักกันผ่านประวัติศาสตร์
ถึงแม้ในปัจจุบัน เรื่องราวของพันท้ายนรสิงห์จะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่ามีจริงก็คือ ตำแหน่งพันท้ายหรือนายท้ายเรือพระที่นั่ง และคลองโคกขามที่มีอยู่จริง ซึ่งปัจจุบันคลองแห่งนี้อยู่ในจังหวัดสมุทรสาครนั่นเอง.
ภาพจาก pantainorasingh.go.th