รมว.คลัง ชี้แจงแล้ว เงินดิจิทัล 10000 บาท ใครขึ้นเงินเป็นเงินสดได้ เผยช่วงเวลาลงทะเบียนร้านค้ายังไม่มีข้อสรุป ใช้งบไม่เกิน 5.6 แสนล้านบาท ผู้มีสิทธิต้องยืนยันตัวตนด้วยระบบ KYC
หลังจากคณะอนุกรรมการเงินดิจิทัลได้ประชุมหารือร่วมกัน เกี่ยวกับนโยบายเงินดิจิทัล (Digital Wallet) 10,000 บาท และได้ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการใช้ดิจิทัลวอลเล็ตหลายครั้ง ทั้งช่องทางการแจกเงิน รวมถึงคำถามที่ประชาชนสงสัยกันว่า สามารถขึ้นเป็นเงินสดได้หรือไม่ ล่าสุด นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาชี้แจงแล้วว่า ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น
ร้านค้าที่ใช้เงินจิดิทัลขึ้นเงินเป็นเงินสดได้
โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท เดิมมีเงื่อนไขว่า ผู้เข้าร่วมโครงการ ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลเป็นเงินสดได้ แต่หากเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี จะสามารถนำเงินดิจิทัลขึ้นเป็นเงินสดได้
ร้านค้าต่าง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี สามารถเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้ แต่จะไม่สามารถขึ้นเงิน ทางแก้คือ ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบภาษี ต้องนำเงินในวอลเล็ตไปใช้กับร้านค้าอื่น ๆ ที่เข้าร่วมโครงการแทน หรือใช้จ่ายกับร้านค้าอยู่ในระบบภาษี
ช่วงเวลาลงทะเบียนร้านค้า
ก่อนหน้านี้มีรายงานว่า โครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท จะเปิดให้ลงทะเบียนร้านค้า ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 แต่นายจุลพันธ์ระบุว่า กรณีการเปิดให้ลงทะเบียนขณะนี้ ยังไม่มีข้อสรุปว่าเริ่มเมื่อไร เนื่องจากยังไม่ได้กำหนดช่วงเวลาลงทะเบียนที่ชัดเจน
จากการนำเสนอของสื่อมวลชนก่อนหน้านี้ รมว.คลังยอมรับว่า เปิดเผยช่วงเวลาการลงทะเบียนร้านไปโดยไม่ทันได้ข้อสรุป แต่โครงการเติมเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนั้น จะได้รับการยืนยันภายใน 2 สัปดาห์นี้ หรือภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2566
งบประมาณที่ใช้
งบประมาณที่ใช้ในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท นายจุลพันธ์ยืนยันว่า ใช้งบประมาณไม่ถึง 5.6 แสนล้านบาท เนื่องจากผู้มีสิทธิได้รับดิจิทัลวอลเล็ตต้องอายุ 16 ขึ้นไป และมีประชากรกลุ่มนี้เพียง 5.48 ล้านคน ทำให้สามารถใช้งบประมาณกับโครงการนี้แค่ 5.48 ล้านบาท นอกจากนี้ ต้องดูเงื่อนไขความจำเป็นของกลุ่มคน รวมถึงผู้ที่ไม่เข้าร่วมโครงการด้วย
การยืนยันตัวตนผ่านระบบ KYC
จากเดิมที่รัฐบาลประกาศว่า ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยเป็นคนไทยที่มีอายุ 16 ขึ้นไป สามารถรับเงินดิจิทัลได้ โดยไม่ต้องลงทะเบียน แต่ภายหลังเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการกลับเปลี่ยน ต้องยืนยันตัวตนด้วยระบบ KYC เท่านั้น จึงจะได้รับสิทธิในโครงการ
นายจุลพันธ์ยืนยันว่า การยืนยันตัวตนผ่านระบบ KYC ไม่ใช่การลงทะเบียน แต่เป็นการกดรับสิทธิเข้าร่วมโครงการ อีกทั้งประชากรไทยที่เคยเข้าร่วมโครงการรัฐ ขณะนี้มีประมาณ 40 ล้านคน ซึ่งไม่ต้องยืนยันตัวตนอีก ยังเหลือประชากรเพียง 10 ล้านคนเท่านั้น ที่ต้องยืนยันตัวตนเพื่อรับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง