การเงินเศรษฐกิจ

แม่ค้าออนไลน์จ่ายภาษียังไง เช็กเอกสารที่ต้องใช้ พร้อมขั้นตอนการยื่นภาษี

แม่ค้าออนไลน์ ทั้งแบบฟรีแลนซ์และจดทะเบียนพาณิชย์ มีเอกสารที่ต้องใช้และขั้นตอนการจ่ายภาษีอย่างไรบ้าง พร้อมเช็กช่วงเวลาการยื่นแบบ และอัตราการจ่ายภาษีเริ่มต้น

สังคมออนไลน์ต่าง ๆ เปรียบเสมือนสังคมขนาดใหญ่ที่ผู้คนจากหลายพื้นที่เข้ามาร่วมตัวกัน เดิมสื่อออนไลน์เป็นเพียงพื้นที่แลกเปลี่ยนข้อมูล หรือแชร์ข่าวสาร แต่ปัจจุบันยังเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้า เนื่องด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ที่ทำให้การค้าขายบนช่องทางออนไลน์เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น และเกิดอาชีพแม่ค้าออนไลน์ขึ้นมา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขายของออนไลน์ค่อนข้างอิสระกว่าอาชีพอื่น สร้างรายได้จำนวนมาก อีกทั้งยังทำเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมได้ และด้วยความเป็นอาชีพที่เกิดขึ้นมาไม่นาน แม่ค้าออนไลน์บางท่านอาจมองข้ามการจ่ายภาษีไป บทความนี้เราขอรวบรวมขั้นตอนการจ่ายภาษี เอกสารที่ต้องใช้ ต้องจ่ายยังไง พร้อมเช็กอัตราการจ่ายภาษีเริ่มต้น

แม่ค้าออนไลน์

เอกสารที่แม่ค้าออนไลน์ใช้ในการจ่ายภาษี

แม่ค้าออนไลน์ที่ขายของออนไลน์เป็นอาชีพ กับที่จดทะเบียนร้านค้าตามกฎหมาย จะมีจ่ายภาษีแตกต่างกัน กรณีเป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทั่วไป จะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่หากเป็นแม่ค้าออนไลน์ที่จัดตั้งบริษัท จะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแทน โดยเอกสารที่ใช้ในการจ่ายภาษีทั้งสองประเภท มีดังนี้

แม่ค้าออนไลน์ที่ไม่ได้จดทะเบียนร้านค้า ต้องเตรียมเอกสารดังนี้

1. แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 94 หรือแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 90

2. เอกสารหลักฐานแสดงรายได้ เช่น หนังสือรับรองเงินเดือนจากนายจ้าง ตามมาตรา 50 ทวิ

3. เอกสารแสดงรายการลดหย่อนภาษีกลุ่มต่าง ๆ ได้แก่

    • ทะเบียนสมรส หรือใบสูติบัตรบุตร
    • ใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ
    • ใบเสร็จรับรองการซื้อกองทุน RMF/SSF/SSFX
    • หนังสือรับรองดอกเบี้ยกู้ยืมจากธนาคาร
    • หลักฐานการบริจาค

4. เอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น บัญชีรายรับ – รายจ่าย ใบเสร็จรับเงินค่าวัตถุดิบหรือสินค้าที่ซื้อมาเพื่อจำหน่าย

แม่ค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน ต้องเตรียมเอกสารดังนี้

1. แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 51 หรือแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. 50

2. เอกสารหลักฐานแสดงรายได้ เช่น หนังสือรับรองเงินเดือนจากนายจ้าง ตามมาตรา 50 ทวิ

3. เอกสารงบการเงิน เช่น งบกำไรขาดทุน งบแสดงฐานะการเงิน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ หมายเหตุประกอบงบการเงิน หรือรายงานผู้สอบบัญชีรับอนุญาต

แม่ค้าออนไลน์ แบบรายได้เสริม

ขั้นตอนการจ่ายภาษี

แม่ค้าออนไลน์สามารถจ่ายภาษีได้ 2 รูปแบบคือ เดินทางไปจ่ายที่สำนักสรรพากร และจ่ายผ่านระบบออนไลน์ โดยมีขั้นตอนการยื่นภาษีต่าง ๆ ดังนี้

จ่ายภาษีที่กรมสรรพากร

การจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แม่ค้าออนไลน์สามารถเดินทางไปยื่นภาษีด้วยตนเองได้ ที่สำนักงานสรรพากรทุกพื้นที่ โดยกรอกแบบฟอร์ม ภ.ง.ด. ตามประเภทของภาษีที่ต้องการจ่าย จากนั้นจัดเตรียมเอกสารการยื่นภาษีที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้ ในวันและเวลาราชการคือ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น.

จ่ายภาษีผ่านระบบออนไลน์ ผ่าน e-FILNG

แม่ค้าออนไลน์ที่ต้องการไม่สะดวกเดินทางไปที่สำนักงานสรรพากร สามารถจ่ายผ่านช่องทางออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ efiling.rd.go.th ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ นอกจากนี้ กรมสรรพากรขยายเวลายื่นภาษีช้าออกไปกว่าการยื่นที่สำนักงานอีกด้วย โดยขั้นตอนการจ่ายภาษีผ่าน e-FILNG มีดังนี้

1. เข้าสู่ระบบด้วยชื่อผู้ใช้งาน (Username) และรหัสผ่าน (Password) หากเข้าใช้บริการครั้งแรกให้สมัครสมาชิกก่อน

2. เลือกเมนู “ยื่นแบบ” (แบบฟอร์ม ภ.ง.ด. ตามประเภทของภาษีที่ต้องการจ่าย)

3. เลือกแบบภาษีที่ต้องการยื่น

4. บันทึกข้อมูลแบบ หรือ อัปโหลดไฟล์ข้อมูลแบบ

5. ยืนยันการยื่นแบบ

6. แสดงผลการยื่นแบบ โดยระบบจะส่งผลการยื่นแบบไปที่อีเมล ที่ผู้จ่ายภาษีลงทะเบียนไว้ด้วย

7. จ่ายภาษี เป็นอันเสร็จสิ้น

แม่ค้าออนไลน์ที่ต้องการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถกรอกแบบยื่น ภ.ง.ด. มอบให้หน่วยงานหรือบริษัทต้นสังกัดยื่นภาษีให้ได้ และหากมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สามารถยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทางไปรษณีย์ลงทะเบียนได้เช่นกัน

การยื่นแบบทางไปรษณีย์ จะต้องยื่นเอกสาร และชำระภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยแบบ ภ.ง.ด. 90 ให้ยื่นระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม ของปีถัดจากปีภาษี ส่วนแบบ ภ.ง.ด. 94 ให้ยื่นระหว่าง 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน ของปีภาษี โดยกรมสรรพากรจะถือเอาวันที่ลงทะเบียนไปรษณีย์เป็นวันรับแบบและชำระภาษี (ไม่รวมกรณีขอผ่อนชำระ)

แม่ค้าออนไลน์ที่ต้องการจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถส่งเอกสารไปที่ กองคลัง กรมสรรพากร อาคารกรมสรรพากร ชั้น 6 เลขที่ 90 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

แม่ค้าออนไลน์ต้องเสียภาษี

แม่ค้าออนไลน์ต้องจ่ายภาษีเมื่อไร

แม่ค้าออนไลน์ที่เป็นพนักงานประจำ โดยมีอาชีพขายของออนไลน์เป็นอาชีพเสริม หรือทำแบบฟรีแลนซ์ ต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รอบที่ 1 โดยการการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ที่มีกำหนดช่วงเวลายื่น ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน ของปีภาษีนั้น และต้องสรุปรายได้ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน ก่อนปีที่จ่ายภาษี

หากไม่ยื่นภาษีกลางปี ภ.ง.ด. 94 รายได้ทั้งหมดจะถูกนำไปรวมกับภาษี ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 ส่งผลให้แม่ค้าออนไลน์ต้องจ่ายภาษีแพงขึ้น เนื่องจากการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90 มีกำหนดเวลายื่นจ่าย ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ของปีภาษีถัดไป และแม่ค้าออนไลน์ต้องสรุปรายได้ทั้งหมดจากช่วงปีที่ผ่านมา เพื่อในแสดงในการยื่นแบบด้วย

ส่วนแม่ค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนถูกต้องตามกฎหมาย จะต้องเสียเงินได้นิติบุคคล โดยการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 โดยมีกำหนดยื่นแบบ ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม ของทุกปีภาษี และจะต้องสรุปรวมรายได้ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 30 มิถุนายน ในปีที่จะจ่ายภาษี

นอกจากนี้ ผู้ค้าออนไลน์ที่ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคล ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 เพื่อเป็นการสรุปรายได้ทั้งหมดที่ได้รับตลอดทั้งปี โดยมีกำหนดยื่นภายในวันที่ 30 พฤษภาคม ของปีถัดไป เช่น รายได้ทั้งหมดที่ได้รับในปี 2566 ต้องสรุปและยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 ภายในเดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้น

อัตราการจ่ายภาษีเริ่มต้น

แม่ค้าออนไลน์แบบฟรีแลนซ์ และแบบจดทะเบียนการพาณิชย์ นอกจากจะจ่ายภาษีและยื่นแบบที่แตกต่างกันแล้ว อัตราการจ่ายภาษีเริ่มต้นยังแตกต่างกันอีกด้วย

แม่ค้าออนไลน์ฟรีแลนซ์ที่ต้องยื่นภาษีบุคคลธรรมดา กรมสรรพากรกำหนดการคิดอัตราภาษีตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาหักภาษีได้ 3 แบบ ดังนี้

  • หักค่าใช้จ่ายตามอัตรา 60% ของเงินได้ สำหรับร้านที่ดำเนินการแบบซื้อมาขายไป ไม่มีการผลิตภายในร้าน
  • หักตามค่าใช้จ่ายจริง สำหรับกรณีที่มีการผลิตภายในร้าน
  • หักแบบเหมา กรณีที่มีรายได้จากช่องทางออนไลน์เกิน 1,000,000 บาท โดยคิดภาษีเป็น 0.5% ของเงินได้

การคำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แม่ค้าออนไลน์สามารถนำรายได้ทั้งหมด หักลบค่าใช้จ่าย แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้ลบกับ 150,000 บาท เพื่อให้ได้รายได้สุทธิ สำหรับคิดเปอร์เซ็นต์การจ่ายภาษี

ส่วนการคิดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล จะมีวิธีการคิดที่ใกล้เคียงกันกับการคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคือ นำรายได้ หักลบค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อน 300,000 บาท ก็จะได้รายได้สุทธิ สำหรับการคิดเปอร์เซ็นต์การจ่ายภาษีเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและเงินได้นิติบุคคลจะอยู่ที่อัตราภาษี เนื่องจากภาษีเงินได้นิติบุคคลเริ่มต้นที่ 15% แต่ภาษีเงินได้บุคคลเริ่มต้นที่ 5% ด้วยเหตุนี้ แม่ค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนบริษัทจึงจ่ายภาษีแพงกว่านั่นเอง

แม่ค้าออนไลน์ทั้งแบบฟรีแลนซ์และแบบจดทะเบียนพาณิชย์ จะยื่นภาษีในรูปแบบที่แตกต่างกัน โดยผู้ค้าออนไลน์มือใหม่ทุกท่าน สามารถนำเอกสารที่ต้องใช้ ขั้นตอนการจ่ายภาษีที่ทีมงาน Thaiger สรุปมาให้ไปใช้ยื่นภาษีกันได้ เพราะแม้จะเป็นอาชีพออนไลน์ แต่กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบรายได้ผ่านบัญชีธนาคารได้ ดังนั้น หากไม่จ่ายภาษี อาจโดนเช็กบิลย้อนหลังได้นะ

แม่ค้าออนไลน์ จดทะเบียนร้านค้า

อ้างอิง : กรมสรรพากร

Kamonlak

นักเขียนข่าวประจำ Thaiger ผู้มีความสนใจที่หลากหลาย มีประสบการณ์เชี่ยวชาญเขียนข่าวการเงิน เศรษฐกิจ จบการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ งานอดิเรก ติดตามข่าวสารความบันเทิง โดยเฉพาะภาพยนตร์และแอนิเมชัน เขียนงานโดยมีแนวคิดที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตัวเองและถ่ายทอดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม ช่องทางติดต่อ kamonlak@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button