กรดไหลย้อนเกิดจากอะไร วิธีเช็กอาการเบื้องต้น แนวทางการรักษา
สรุปมาให้แล้ว กรดไหลย้อนคืออะไร เกิดจากอะไรได้บ้าง มาพร้อมวิธีสังเกตอาการและแนวทางการรักษาเบื้องต้น อยากสุขภาพดีต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
กรดไหลย้อนเป็นภัยเงียบใกล้ตัวที่อาจก่อให้เกิดโรคร้ายได้ เพราะหากปล่อยไว้จนมีอาการเรื้อรัง ก็อาจทำให้คุณต้องเจอกับโรคมะเร็งแบบไม่ทันตั้งตัว วันนี้ทีมงานไทยเกอร์สสายสุขภาพ เลยจะพาทุกท่านไปรู้จัก กรดไหลย้อน (GERD) ที่ทำให้รู้สึกแสบร้อนกลางอกอยู่บ่อย ๆ บอกเลยว่าถ้าปล่อยให้เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก อันตรายแน่นอน ว่าแต่จะมีวิธีดูแลตัวเองยังไง เพื่อไม่ให้มีอาการกรดไหลย้อน ใครพร้อมแล้วไปดูด้วยกันได้เลย!
กรดไหลย้อน แสบร้อนกลางอก อาจอันตรายมากกว่าที่คิด
โรคกรดไหลย้อน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Gastroesophageal Reflux Disease : GERD เป็นโรคทางเดินอาหารที่พบเจอได้บ่อย โดยมักเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง (LES) อ่อนแรงหรือทำงานผิดปกติ ส่งผลให้กรดในกระเพาะและอาหารที่ย่อยไปบางส่วน ไหลย้อนกลับเข้าไปในหลอดอาหาร จนทำให้เกิดอาการไม่สบายตัว ทั้งยังแสบร้อนกลางอก และเรอเปรี้ยวร่วมด้วย
อาการของโรคกรดไหลย้อน
แสบร้อนกลางอก : หนึ่งในอาการที่พบบ่อยที่สุดของโรคกรดไหลย้อน คืออาการเสียดท้อง หรือความรู้สึกแสบร้อนที่หน้าอก โดยจะเกิดขึ้นเมื่อกรดในกระเพาะอาหาร เข้าไปทำความระคายเคืองต่อเยื่อบุหลอดอาหาร ซึ่งจะรู้สึกได้บ่อยหากชอบกินแล้วนอนในทันที
เรอเปลี้ยว หรือมีอาการสำรอกอาหาร : การเรอรสเปรี้ยวหรือรู้สึกว่ามีรสชาติแปลก ๆ ไหลกลับเข้ามาในปาก (สำรอก) ก็เป็นหนึ่งในอาการที่พบบ่อยเช่นกัน
การกลืนลำบาก : หากใครที่เป็นกรดไหลย้อนบ่อย ๆ อาจรู้สึกว่ากลืนหรือทานอาหารได้ลำบากขึ้น เนื่องจากกรดไหลย้อนสามารถนำไปสู่การตีบของหลอดอาหารได้ เป็นผลทำให้กลืนอาหารหรือของเหลวไม่สะดวกเท่าไหร่นัก
อาการไอเรื้อรัง หรือไอแห้ง : การไออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะตอนกลางคืน อาจเป็นอาการของโรคกรดไหลย้อนได้ เพราะกรดไหลย้อนอาจทำให้ทางเดินหายใจระคายเคือง กระตุ้นให้เกิดอาการไอแห้งหรือไออย่างต่อเนื่องจนเสียงแหบ
มีอาการหอบหืด : โรคกรดไหลย้อนเป็นตัวกระตุ้นชั้นดี ที่ทำให้เกิดอาการหอบหืดรุนแรงขึ้นในผู้ป่วยบางราย
กล่องเสียงอักเสบ : การที่กล่องเสียงได้รับกรดในกระเพาะอาหารอย่างต่อเนื่อง ก็อาจทำให้กล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง จนมีอาการเสียงแหบ หรือเสียงที่ผิดแปลกไปจากเดิมได้
ปัญหาทางทันตกรรม : กรดในกระเพาะอาหารสามารถกัดกร่อนเคลือบฟัน ทำให้เกิดปัญหาในช่องปากหรือทางทันตกรรมหลายอย่าง เช่น อาการเสียวฟัน ฟันผุ เป็นต้น
แนวทางการรักษาโรคกรดไหลย้อน
การรักษาโรคกรดไหลย้อน สามารถทำได้หลายวิธี ทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์ และการเข้าผ่าตัด ดังนี้
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมถือเป็นหัวใจหลักของการรักษาโรคกรดไหลย้อน โดยผู้ป่วยต้องทานอาหารให้น้อยลง เลี่ยงการนอนทันทีหลังมื้ออาหาร งดของที่ไม่ดีต่อร่างกาย เช่น สุรา บุหรี่ ชา กาแฟ น้ำอัดลม ตลอดจนทานมื้อเย็นให้เร็วขึ้น ไม่ใส่เสื้อผ้ารัดรูป และออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
เปลี่ยนแปลงอาหารการกิน : นอกจากจะเปลี่ยนพฤติกรรมแล้ว ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนต้องระวังเรื่องอาหารที่รับประทานด้วย โดยท่าจะต้องหลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ด หรืออาหารที่เป็นกรด ทั้งยังต้องควบคุมน้ำหนัก และใช้หมอนสูงรองศรีษะเพื่อป้องกันกรดไหลย้อนในเวลากลางคืน
ใช้ยา : ยาลดกรดที่จำหน่ายในร้านขายยา สามารถบรรเทาอาการกรดไหลย้อนระยะสั้นได้ โดยยาจะเข้าไปทำให้กรดในกระเพาะเป็นกลาง และสร้างสารยับยั้ง PPIs ทั้งยังช่วยลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
การผ่าตัด : หากอาการกรดไหลย้อนไม่ดีขึ้น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยบางราย พิจารณาเข้ารับการผ่าตัดแทน
สาเหตุของโรคกรดไหลย้อน
การทำความเข้าใจสาเหตุที่แท้จริงของโรคกรดไหลย้อนเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อที่เราจะได้ระวังไม่ให้มีอาการกรดไหลย้อน หรือป้องกันไม่ให้เกิดอาการซ้ำในอนาคต โดยสาเหตุหลักของโรคกรดไหลย้อน มีดังนี้
กล้ามเนื้อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างอ่อนแอ : ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนคือ LES ที่อ่อนแอลง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากปัจจัยทางพันธุกรรม และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเอง เช่น สูบบุหรี่จัด กินแล้วนอน กินอาหารที่มีกรดสูง เป็นต้น
โรคอ้วน : น้ำหนักที่มากเกินไปสามารถกดกระเพาะอาหาร ทำให้กรดไหลย้อนเข้าสู่หลอดอาหารได้
การตั้งครรภ์ : การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและความดันในช่องท้องที่เพิ่มขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ สามารถทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้เช่นกัน
ความเครียด : หากมีอาการเครียด ก็อาจทำให้กระเพาะอาหารไวต่อสิ่งกระตุ้นรอบตัวได้ ทำให้กระเพาะทำงานผิดปกติ ทั้งยังกระตุ้นให้หลอดอาหารไวต่อกรด จนรู้สึกแสบร้อนเมื่อมีอาการกรดไหลย้อนได้ง่าย
โรคกรดไหลย้อนถือเป็นภาวะเรื้อรังที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของใครหลายคน เราจึงจำเป็นที่จะต้องรู้อาการ วิธีป้องกัน และแสวงหาการรักษาที่เหมาะสม เพื่อรักษาสุขภาพให้ดีและมีความสมดุล ส่วนใครที่สงสัยว่าตัวเองอาจเป็นโรคกรดไหลย้อน ให้รีบปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เพื่อรับการวินิจฉัยและคำแนะนำเกี่ยวกับทางเลือกการรักษาที่ดีที่สุดต่อไป
อ้างอิงข้อมูลทางการแพทย์จาก : โรงพยาบาลรามาธิบดี, โรงพยาบาลศิครินทร์, โรงพยาบาลกรุงเทพ.