เผยเงินเดือนหมอจบใหม่ ปี 2566 ได้เท่าไหร่ ได้เงินจากส่วนไหนบ้าง เงินเยอะจริงไหม ต้องทำงานต่อเดือนกี่ชั่วโมง ใครอยากเป็นหมอ ต้องอ่าน
อาชีพแพทย์ หรือ หมอ เป็นอาชีพในฝันของเด็กทุกยุคทุกสมัย เนื่องจากเป็นอาชีพที่ดูเท่ ใส่เสื้อกาวน์สีขาวสะอาด ช่วยเหลือผู้ป่วยให้อาการดีขึ้น แถมยังมีค่าตอบแทนที่สูงมาก มีความมั่นคง แต่ต้องแลกด้วยการทำงานที่ค่อนข้างหนักหลายสิบชั่วโมงต่อครั้ง แต่เคยรู้หรือไม่ว่า หากเราเรียนจบคณะแพทยศาสตร์แล้วมาบรรจุเป็นหมอนั้น เงินเดือนเริ่มต้นเท่าไหร่ จะคุ้มกับสิ่งที่เราลงทุนหรือไม่
ทีมงานไทยเกอร์ จะมาไขคำตอบให้ทุกคนว่า เงินเดือนหมอจบใหม่ ได้เริ่มต้นที่เท่าไหร่ ได้จากเงินจากส่วนใดบ้าง ได้ค่าตอบแทนสูงจริงหรือไม่ ต้องทำงานกี่ชั่วโมงต่อเดือน
เงินเดือนหมอจบใหม่ เริ่มต้นที่กี่บาท ได้ค่าส่วนไหนบ้าง
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลากหลายปัจจัย อาจได้เงินในแต่ละเดือนไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงาน รวมถึงโรงพยาบาลต้นสังกัด โดยในเงินเดือน 1 ก้อนจะได้เงินมาจาก 5 ส่วนหลัก ดังนี้
1. เงินเดือน
เงินส่วนนี้ เป็นเงินที่กำหนดไว้แบบตายตัว จะเพิ่มก็ต่อเมื่อมีการเลื่อนตำแหน่ง โดยหมอจบใหม่จะได้เงินเดือนเริ่มต้นอยู่ที่เดือนละ 18,000 บาท (อัตราเงินเดือนโรงพยาบาลรัฐบาล)
2. เงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีพิเศษ ของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข (เงินค่า พ.ต.ส.)
เงินส่วนนี้จะให้สำหรับข้าราชการพลเรือนที่ปฏิบัติงานในสภาพการทำงานที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ทักษะค่อนข้างสูง โดยกำหนดกลุ่มบุคลาการทางการแพทย์ไว้ 3 กลุ่ม หมอจบใหม่จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 จะได้เงินอยู่ที่เดือนละ 5,000 บาท
3. เงินไม่ทำงานเวชปฏิบัติส่วนตัว (เงินไม่ทำคลินิก)
เงินส่วนนี้ เป็นเงินที่ให้เพิ่มเติม หากไม่ได้ทำงานในโรงพยาบาลเอกชนหรือทำคลินิกส่วนตัว หมอจบใหม่จะได้อยู่ที่เดือนละ 10,000 บาท
4. เงินค่า P4P (Pay for Performance) (เงินค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน)
เงินส่วนนี้ ได้จากการที่เราทำหัตถการให้ผู้ป่วย อาทิ การใส่ท่อช่วยหายใจ การ Ultrasound การใช้เข็มเจาะน้ำจากช่องปอด เป็นต้น เฉลี่ยแล้วค่า P4P ที่หมอจบใหม่จะได้รับเฉลี่ยเดือนละ 5,000 – 7,000 บาท โดยค่า P4P แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
4.1 Fixed P4P
– เป็นการคิดค่า P4P โดยเฉลี่ยจากแผนกที่เราได้ทำหน้าที่อยู่ เช่น หากเราได้เป็นหมออยู่ในแผนกอายุรกรรม
โรงพยาบาล A ก็จะมีการคิดค่า P4P โดยเฉลี่ยต่อเดือนให้เรียบร้อย
4.2 คำนวณจากค่าหัตถการที่ทำ
– คำนวณโดยการที่เราจะต้องจดหัตถการทั้งหมดที่เราได้ทำใน 1 เดือน จากนั้นนำไปยื่นให้ทางโรงพยาบาล
เพื่อให้คิดค่า P4P ออกมา โดยจะแปรผันตรงกับหัตถการที่เราทำทั้งหมด ทำมากได้เงินมาก ทำน้อยได้เงินน้อย
แต่มีขีดจำกัดของการทำหัตถการว่าทำได้สูงสุดเท่าไหร่
5. เงินค่าเข้าเวร
การอยู่เวรของหมอ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
5.1 เวรวอร์ด หรือเวรแผนก
– เป็นการอยู่เวรในแผนกที่ตนได้รับมอบหมายหลังจากเวลาราชการ ตั้งแต่ 16.30 – 8.30 น. ของวันถัดไป
เพื่อดูแลผู้ป่วย รวมถึงรับเคสใหม่ของแผนกนั้น ๆ ทั้งหมด ซึ่งหมอจบใหม่จะได้ค่าเวรวอร์ดอยู่ที่ 700 – 1,400 บาท
5.2 เวร ER (Emergency Room) หรือเวรห้องฉุกเฉิน
– เป็นการอยู่เวรในห้องฉุกเฉินเป็นเวลา 8 ชั่วโมง เพื่อรับคนไข้ฉุกเฉิน อาทิ ผู้ป่วยเกิดอุบัติเหตุ ทะเลาะวิวาท
หายใจเหนื่อยหอบ เป็นต้น ซึ่งหมอจบใหม่จะได้ค่าเวรวอร์ดอยู่ที่ประมาณ 1,100 บาท
นอกจากนี้ ยังมีการลงเวรเพิ่มเติม เพื่อทำงานได้เงินอีกทาง นั่นคือ การลงเวร ป.ก.ส. เพื่อตรวจคนไข้ทุกวัย ทุกโรค เป็นเวลาประมาณ 4 ชั่วโมง มีค่าตอบแทนให้ประมาณ 2,000 บาท
สรุปแล้ว เงินเดือนหมอจบใหม่ รวมฐานเงินเดือน อยู่เวร ค่าปฏิบัติการอื่น ๆ จะได้เฉลี่ยเริ่มต้นที่เดือนละ 53,000 บาท แต่จะได้มากหรือน้อยกว่านี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ เพิ่มเติม อาทิ โรงพยาบาลจะให้เงินเท่าไหร่ เราอยู่เวรมากน้อยเพียงใด แต่เฉลี่ยแล้วต้องทำงานอยู่ที่ 380 ชั่วโมง/เดือน ถือว่าคุ้มไหมกับการทำงานหามรุ่งหามค่ำ คุณต้องพิจารณาเองอีกที
บทความนี้ถือว่าเป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับคนที่มีความฝันที่จะเป็นคุณหมอ สวมชุดกาวน์รักษาผู้ป่วย ทางทีมงานไทยเกอร์ ขอเป็นหนึ่งในกำลังใจให้ทำตามฝันสำเร็จนะครับผม