‘ฝีดาษลิง’ โรคติดต่อจากลิงสู่คน มีสาเหตุจากอะไร อาการเริ่มต้น มีผื่นนูนแดง มีไข้อ่อนเพลีย
‘ฝีดาษลิง’ กลุ่มโรคติดเชื้อจากสัตว์สู่คน สาเหตุเกิดจากอยู่ใกล้ชิดกับสัตว์ โดนข่วน หรือรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีเชื้อ ปรุงไม่สุก อาการระยะแรกมีผื่นแดงตามตัว คนมีโรคประจำตัวอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
หลังจากที่โรคฝีดาษลิงสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนทั่วโลกไปไม่นาน พบว่ามีคนล้มป่วย รักษาไม่หาย หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทำให้หลายคนมีความวิตกกังวลอย่างมาก รวมถึงมีข้อสงสัยว่าโรคนี้เกิดจากอะไร มีที่มาจากไหน ควรรับมือ และหาวิธีป้องกันตัวเองอย่างไร วันนี้ทีมงาน TheThaiger รวมคำตอบไว้ให้ทุกคนแล้วค่ะ
ฝีดาษลิงคืออะไร
ฝีดาษลิง (Monkeypox) เป็นโรคติดเชื้อไม่รุนแรงจากไวรัสกลุ่ม Poxviridae จัดอยู่ในจีนัส Orthopoxvirus เป็นกลุ่มเดียวกับเชื้อไวรัสโรคฝีดาษหรือโรคไข้ทรพิษ โรคฝีดาษลิงส่วนใหญ่พบในแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาพบการระบาดของโรคฝีดาษลิงในหลายประเทศทั่วโลกเป็นครั้งแรก
เกิดจาก 2 สาเหตุ
- ฝีดาษลิงสามารถแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คนได้ สัตว์ที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ ได้แก่ ลิง สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก ค้างคาว เป็นต้น การติดเชื้อจากสัตว์สู่คนอาจเกิดขึ้นจากการสัมผัสกับเลือด น้ำเหลือง หรือสารคัดหลั่งจากสัตว์ที่ติดเชื้อ การสัมผัสกับแผลของสัตว์ที่ติดเชื้อ หรือการสัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อจากสัตว์ที่ติดเชื้อ
- โรคฝีดาษลิงยังสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เช่น การสัมผัสกับผื่นหนอง ไอจามหรือสัมผัสละอองฝอยจากทางเดินหายใจของผู้ป่วย การสัมผัสกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจหรือแผลของผู้ป่วย
ลักษณะอาการที่พบ
อาการของโรคฝีดาษลิงจะแสดงหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 5-21 วัน อาการเริ่มต้น ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต
หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน จะมีผื่นขึ้นตามตัว ผื่นจะเริ่มเป็นผื่นแดงหรือปื้นนูนแดง จากนั้นจะเป็นตุ่มน้ำใสขนาดใหญ่ ตุ่มหนองที่มีสะเก็ดคลุมแล้วแตกได้ ผื่นมักจะขึ้นบริเวณใบหน้า แขนขา ลำตัว และเยื่อบุอวัยวะเพศ
ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงส่วนใหญ่จะหายจากโรคได้เองภายใน 2-4 สัปดาห์ อย่างไรก็ดี โรคฝีดาษลิงอาจรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเรื้อรัง
วิธีป้องกัน
การป้องกันโรคฝีดาษลิงสามารถทำได้ ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่า เช่น ลิง สัตว์ฟันแทะ หนู กระต่าย กระรอก
- ระมัดระวังการสัมผัสกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ เช่น หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผื่นหนอง ไอจามหรือสัมผัสละอองฝอยจากทางเดินหายใจของผู้ป่วย
- ล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำสะอาด หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษสามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ 85%
เพื่อไม่ให้เป็นการตื่นตระหนกจนเกินไปหากมีอาการป่วยที่สงสัยว่าเป็นโรคฝีดาษลิง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่ถูกต้อง