ข่าว

30 ส.ค. 66 ชวนชม จันทร์เต็มดวง ‘ซูเปอร์บลูมูน’ ใกล้โลกสุดในรอบปี

30 สิงหาคม 2566 เตรียมชมจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปีอีกครั้งกับปรากฏการณ์ ‘ซูเปอร์บลูมูน’ จันทร์เต็มดวงรอบที่สองของเดือนใหญ่กว่าเดิม ส่องสว่างกว่าเดิม พร้อมเช็กพิกัดสังเกตการณ์หลัก 4 จุด หรือรับชมผ่านทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์

NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ แจ้งอัปเดตอีกหนึ่งปรากฏการณ์สุดยิ่งใหญ่ส่งท้ายเดือนสิงหาคม ปรากฏการณ์ ซูเปอร์บลูมูน’ จันทร์เต็มดวงที่กำลังจะเกิดเป็นครั้งที่สองของเดือนสิงหาคมใน วันพุธที่ 30 สิงหาคม 2566 ซึ่งสามารถรับชมได้ตลอดคืนวันจวบเช้าวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ครั้งนี้นับเป็นการชมจันทร์เต็มดวงที่ใหญ่กว่าเดิม สว่างกว่าเดิม ทั้งนี้สามารถดูได้ด้วยตาเปล่าจากทางทิศตะวันออกในทุกภูมิภาคทั่วไทย ไม่เพียงเท่านั้นปรากฏการณ์ ‘ซูเปอร์บลูมูน’ ในครั้งนี้ยังสามารถเห็นดาวเสาร์ส่องสว่างเคียงจันทร์ได้อีกด้วย

Advertisements
ปรากฏการณ์ “ซูเปอร์บลูมูน”
ภาพจากเฟซบุ๊ก : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

สำหรับผู้ใดที่สนใจชมความงามในคืนจันทร์เต็มดวงร่วมกัน ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ก็ได้จัดเตรียมกิจกรรมสังเกตการณ์ใน 4 จุดหลักในประเทศไทย ดังนี้

  • อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ : โทร. 084-0882261
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (หอดูดาวภูมิภาค) จังหวัดนครราชสีมา : โทร. 086-4291489
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (หอดูดาวภูมิภาค) จังหวัดฉะเชิงเทรา : โทร. 084-0882264
  • หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา (หอดูดาวภูมิภาค) จังหวัดสงขลา : โทร. 095-1450411

กิจกรรมสังเกตการณ์ดวงจันทร์เต็มดวง หรือ ซูเปอร์มูน จะถูกจัดขึ้นในเวลา 18:00 น. จนถึง 22:00 น. เข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือหากท่านใดไม่สะดวกเดินทางไปเข้าร่วมรับชมยังจุดสังเกตการณ์ที่ทางสดร. จัดขึ้น ก็สามารถรับชมผ่าน LIVE ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติได้เช่นกัน

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงเป็นครั้งที่สองของเดือน ‘ซูเปอร์บลูมูน’ นั้น นับตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลาประมาณ 18:09 น. เป็นต้นไป จวบจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ซึ่งสามารถรับชมได้ด้วยตาเปล่าจากทุกแห่งทั่วไทย

ทั้งนี้ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้อธิบายถึงลักษณะของการเกิดปรากฏการณ์ซูเปอร์บลูมูน’ ไว้ว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นการเรียกจากการเกิดซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปีเป็นครั้งที่สองในเดือนเดียวกัน ซึ่งเป็นการที่ดวงจันทร์โคจรห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร โดยในคืนวันพุธที่ 30 สิงหาคมนี้ ดวงจันทร์เต็มดวงที่จะเกิดขึ้นในปรากฏการณ์ดังกล่าวจะมีขนาดใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับขนาดของดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ ทั้งนี้จะมีขนาดใหญ่กว่าปกติประมาณ 7% อีกทั้งความส่องสว่างก็เพิ่มขึ้นมากถึง 15%

super blue moon

Advertisements

ร่วมส่งท้ายเดือนสิงหาคมไปด้วยกันในปรากฏการณ์ ‘ซูเปอร์บลูมูน’ ดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน สุดท้ายนี้ The Thaiger หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะมีความสุขไปกับการชมจันทร์

ข้อมูลจาก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

Danita S.

นักเขียนบทความไลฟ์สไตล์ บันเทิง ประจำ Thaiger ติดตามทุกกระแส K-Pop และเท่าทันทุกเรื่องราวความบันเทิง ด้วยประสบการณ์มากกว่า 3 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ช่องทางติดต่อ bell@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button