การบินไทยประกาศขาย “แอร์บัส A380” ทั้ง 6 ลำ หลังล้มแผนซ่อมพันล้าน
สู่ความเวิ้งว้างอันไกลโพ้น การบินไทย ประกาศขายเครื่องบินพาณิชย์ลำยักษ์ แอร์บัส A380 จำนวน 6 ลำ ผลสืบเนื่องจากการล้มแผนซ่อมบำรุงพันล้าน
วันที่ 29 สิงหาคม 2566 เว็บไซต์ thaiaircrafttrading.com ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการลงข้อมูลประกาศขาย เครื่องบินแอร์บัส A380-800 จำนวน 6 ลำ โดยก่อนหน้านี้เครื่องบินจำนวนทั้งหกลำดังกล่าวทางสายการบินนั้นมีแผนจะนำกลับมาใช้งาน แต่เนื่องด้วยมีการจอดทิ้งไว้ 2 ปี ทำให้มีค่าซ่อมบำรุงมีมูลค่านับพันล้านบาท
จากข้อมูลระบุเครื่องบิน “แอร์บัส A380” เครื่องบินพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก จุผู้โดยสารได้มากกว่า 500 คน ปกติมีราคาประมาณ 12,000 ล้านบาท.
ขณะที่เฟซบุ๊กเพจ Wingtips ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแอร์บัส เอ380 (Airbus A380) ของการบินไทยทั้ง 6 ลำนั้น มีรายละเอียดปลีกย่อยอะไรบ้าง อายุการใช้งาน ใช้มาแล้วกี่ปี รวมถึงชั่วโมงบินที่ผ่านมา โดยมีรายะเอียด ดังนี้
- HS-TUA (MSN0087) อายุ 11.4 ปี มีชั่วโมงบิน 32,880 ชั่วโมง
- HS-TUB (MSN0093) อายุ 11.2 ปี มีชั่วโมงบิน 32,699 ชั่วโมง
- HS-TUC (MSN0100) อายุ 11 ปี มีชั่วโมงบิน 32,550 ชั่วโมง
- HS-TUD (MSN0122) อายุ 10.8 ปี มีชั่วโมงบิน 31,118 ชั่วโมง
- HS-TUE (MSN0125) อายุ 10.1 ปี มีชั่วโมงบิน 30,645 ชั่วโมง
- HS-TUF (MSN0131) อายุ 10.3 ปี มีชั่วโมงบิน 29,639 ชั่วโมง
ขณะเดียวกันทางเพจยังระบุด้วยง่า แอร์บัสทุกลำติดตั้งเครื่องยนต์รุ่นเดียวกัน คือ “Rolls-Royce Trent 970-84”
- ปัจจุบันจอดเก็บรักษาระยะยาวอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและอู่ตะเภา
ข้อมูลบนเว็บไซต์ได้ระบุ ”ขอสงวนสิทธิ์ การขายทรัพย์สินของการบินไทยต้องได้รับอนุมัติขั้นสุดท้ายจากผู้บริหารแผนของการบินไทย การบินไทยมีสิทธิและดุลยพินิจแต่เพียงผู้เดียวในการยกเลิกการขายแต่เพียงฝ่ายเดียวได้ตลอดเวลา และผู้ประมูลตกลงที่จะไม่รับผิดชอบต่อการเรียกร้อง ความรับผิด และ/หรือความรับผิดชอบใดๆ ภายหลังการยกเลิกดังกล่าวโดยการบินไทย ข้อมูลในเว็บไซต์นี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า”.
อัปเดตข้อมูล “แผนฟื้นฟูการบินไทยล่าสุด” ใช้หนี้ไปถึงไหนแล้ว ?
ทั้งนี้ นับจากวันที่ 27 พ.ค. 2563 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้การพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง นับเป็นระยะเวลากว่า 3 ปีแล้ว ซึ่งพบว่ามีความคืบหน้าในหลายเป้าหมาย อาทิ การปรับโครงสร้างองค์กร การควบรวมกิจการระหว่างการบินไทยและไทยสมายล์
ร่วมไปถึงการเร่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่ยื่นต่อศาลล้มละลายไว้ในจำนวน 36 กลุ่มเจ้าหนี้ มูลหนี้รวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมดกว่า 4.1 แสนล้านบาท
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 27 ส.ค. 2566 เกี่ยวกับความคืบหน้าของการเร่งชำระหนี้ต่อเจ้าหนี้ทั้งหมด โดยระบุว่า ปัจจุบันการบินไทยมีภาพรวมธุรกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ขณะนี้มีกระแสเงินสดในมือ (แคชโฟว์) รวม 51,153 ล้านบาท โดยการบินไทยจะนำเงินส่วนดังกล่าวมาเร่งชำระหนี้ตามแผนที่ระบุไว้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ และมั่นใจว่าจะสามารถจ่ายหนี้ก้อนสุดท้ายแล้วเสร็จในปี 2574.
- ประยุทธ์ เข้าเยี่ยมการบินไทย ฟังสรุปแผนฟื้นฟู
- การบินไทย เปิดความเสียหายเครื่องบินเฉี่ยวชนที่สนามบินฮาเนดะ
- ธนาธร ขอโทษ การบินไทย