ในยุคปัจจุบันที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องง่ายดาย ลูกเด็กเล็กแดงไปจนถึงผู้สูงอายุล้วนมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัว ส่งผลให้มีมิจฉาชีพจำนวนมากอาศัยช่องทางนี้ในการหลอกลวงผู้คน ปรับเปลี่ยนรูปแบบการโกงให้ทันสมัย หนึ่งในนั้นคือแก๊งค์คอลเซนเตอร์ และการกู้เงินออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่น กลายเป็นภัยร้ายแรงที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนจำนวนมาก
อย่างกรณีล่าสุดที่พ่อมืดมนหนทาง ตัดสินใจฆ่าลูกเมียยกครัว 3 ศพ เครียดจากการที่ภรรยาโดนแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกดูดเงิน 1.7 ล้าน ขณะที่บ้านก็กำลังจะถูกยึด ผู้เป็นพ่อเมื่อลงมือเสร็จก็ปาดคอหวังดับชีพตาม แต่โชคร้ายไม่ตาย ต้องทนกับความทุกข์ทรมานใจไปตลอดชีวิต
วันนี้ Thaiger มีข้อแนะนำมาเตือนภัยประชาชน วิธีเฝ้าระวัง สังเกตไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในโลกออนไลน์ทั้งแก๊งค์คอลเซนเตอร์ และแอปพลิเคชั่นกู้เงิน
แอปกู้เงินออนไลน์ ถ้าไม่ถูกกฎหมาย เสี่ยงตกเป็นเหยื่อ
ปัจจุบันมีสถานบันธนาคารหลายแห่งเปิดให้บริการกู้เงินแบบถูกกฎหมายผ่านแอปพลิเคชั่น มิจฉาชีพจึงใช้โอกาสนี้สร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาเพื่อหลอกลวงเหยื่อ โดยกระบวนการต้มตุ๋นแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ
1. หลอกว่าให้กู้เงินจริง แต่ไม่ได้เงิน จะอ้างใหญ่เหยื่อโอนเงินมาก่อน จากนั้นก็ปิดช่องทางหนีหาย ตามตัวไม่ได้
2. ให้เหยื่อกู้เงินจริง ๆ แต่เก็บดอกเบี้ยด้วยอัตราสูงลิ่ว จนผู้กู้ผ่อนจ่ายไม่ไหว จากนั้นก็ถูกคุมคามทั้งตัวเองและลามไปญาติพี่น้องคนรอบข้าง
ที่น่ากลัวคือในกระบวนการขอกู้จะมีการขอข้อมูลส่วนตัวของผู้กู้ เช่น เลขบัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร รหัสผ่าน ฯลฯ ซึ่งอาจนำไปใช้ก่ออาชญากรรมได้ต่อในอนาคต
ข้อควรระวังในการกู้เงินออนไลน์
เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในการกู้เงินออนไลน์ ควรปฏิบัติตามข้อควรระวังดังต่อไปนี้
- ตรวจสอบข้อมูลของผู้ให้บริการสินเชื่ออย่างรอบคอบ ว่าได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้องหรือไม่
- อย่าหลงเชื่อโฆษณาที่มีข้อความเชิญชวนให้กู้เงินด้วยเงื่อนไขที่ง่ายและสะดวกมากเกินไป
- อย่าให้ข้อมูลส่วนตัวแก่ผู้กู้โดยไม่จำเป็น หากไม่แน่ใจว่าเป็นมิจฉาชีพหรือไม่ โดยเฉพาะหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลัก ที่อยู่บ้าน ชื่อนามสกุล ช่องทางติดต่อบุคคลอื่นที่เรารู้จัก
- ศึกษาเงื่อนไขและสัญญากู้เงินอย่างละเอียดก่อนเซ็นต์รับทราบ
หากพบเบาะแสหรือถูกหลอกลวงจากการกู้เงินออนไลน์ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่สถานีตำรวจท้องที่ หรือติดต่อศูนย์ช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หมายเลขโทรศัพท์ 1441 หรือรวดเร็วที่สุด สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมงทาง www.thaipoliceonline.com
ดังนั้นหากจำเป็นต้องกู้เงิน ควรเลือกกู้จากสถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการสินเชื่อที่น่าเชื่อถือ ซึ่งได้รับการกำกับดูแลโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือกระทรวงการคลัง เป็นต้น นอกจากนี้ ควรศึกษาเงื่อนไขและสัญญากู้เงินอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจกู้ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเอาเปรียบจากมิจฉาชีพ
แก๊งคอลเซนเตอร์ ปลอมเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ดูดเงินเหยื่อ
แก๊งคอลเซนเตอร์ คือกลุ่มมิจฉาชีพที่โทรหาเหยื่อทางโทรศัพท์ โดยสร้างสถานการณ์หลอกลวงให้เหยื่อเกิดความตื่นตระหนกหรือเข้าใจผิด เพื่อขโมยเงินหรือข้อมูลส่วนตัวของเหยื่อ
ในประเทศไทย มิจฉาชีพเหล่านี้จะอ้างตัวเป็นตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเงิน โทรมาด้วยเหตุฉุกเฉินรุนแรง ให้เหยื่อเกิดความตื่นตระหนก สติลดลง จากนั้นก็ตะล่อมให้ตกหลุมพราง ทำตามขั้นตอนจนดูดเงินออกจากบัญชีได้สำเร็จ กว่าจะรู้ตัวเงินก็โดนโยกย้ายโอนไปอยู่ในบัญชีม้าแล้ว