เปิดประวัติ ‘ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์’ อดีต สส. พรรคเพื่อไทย ยอมลาออกเพราะไม่เอาสองลุง
เปิดประวัติ ‘ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์’ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคเพื่อไทย ผู้มีอุดมการณ์แน่วแน่ ไม่เอาเผด็จการ ไม่จัดตั้งรัฐบาลกับพรรคสองลุง
เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์บนโลกออนไลน์ หลังจากพรรคเพื่อไทย ประกาศจับมือกับสองลุง ทั้งที่ในตอนแรกประกาศกร้าวอย่างชัดเจนว่า ทางพรรคจะไม่มีการจับมือกับฝ่ายเผด็จการโดยเด็ดขาด จากชนวนดังกล่าวเป็นผลทำให้ นางสาวทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎร เขต 1 อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ประกาศลาออกจากการเป็น สส. ของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป
ด้วยเจตจำนงอันแน่วแน่ว่าจะไม่เข้าร่วมกับพรรคฝ่ายเผด็จการต่าง ๆ ทำให้สมาชิกพรรคเพื่อไทยประเภทตลอดชีพ อย่างนางสาวทัศนีย์ ต้องยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย วันนี้ทีมงาน Thaiger จะพาทุกท่านไปเปิดประวัติ เพื่อทำความรู้จักกับอดีต สส. พรรคเพื่อไทยท่านนี้กันค่ะ
เปิดประวัติ ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต สส. ที่ไม่ยอมจับมือกับพรรคสองลุง
นางสาวทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ชื่อเล่น กุ้ง เกิดเมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2515 ปัจจุบันอายุ 51 ปี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต 1 สังกัดพรรคเพื่อไทย โดยทัศนีย์ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในปี พ.ศ. 2554
ทัศนีย์เป็นบุตรของ นายพรทัศน์ บูรณุปกรณ์ และนางผ่องศรี บูรณุปกรณ์ โดยทัศนีย์มีน้อง 2 คน คือ ทัศนัย บูรณุปกรณ์ อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ และนางสาวธารทิพย์ บูรณุปกรณ์ ประกอบอาชีพเป็นนักธุรกิจ นอกจากนี้ ทัศนีย์ยังเป็นหลานของนายปกรณ์ บูรณุปกรณ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย
ในส่วนของประวัติด้านการศึกษา ทัศนีย์สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีที่คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ ทัศนีย์ยังถือครองทรัพย์สินจำนวนเงิน 21,345,759.49 บาท
ประวัติการทำงานในด้านการเมือง
ทัศนีย์ เป็นนักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ เคยดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีตำบลช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่ ช่วงระหว่าง พ.ศ. 2546 – 2554 ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ในสมัยของนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์
หลังจากนั้น ทัศนีย์ได้ลาออกจากตำแหน่ง มาลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2554 โดยลงสมัคร สส. ในสังกัดพรรคเพื่อไทย เขต 1 แทนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ซึ่งในปีนั้น ทัศนีย์ก็ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
อย่างไรก็ตาม ในภายหลังการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทัศนีย์เข้ารับตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง แต่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2559 ทัศนีย์และน้องสาว (นางสาวธารทิพย์ บูรณุปกรณ์) ถูกนายทหารพระธรรมนูญจับกุมตัวตามคำสั่ง คสช. เนื่องจากมีการกระทำเข้าข่ายทำผิดข้อหายุยงปลุกปั่นฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
โดยทัศนีย์และน้องสาว ถูกจับและถูกนำตัวไปปรับทัศนคติภายในมณฑลทหารบกที่ 11 รักษาพระองค์ เป็นเวลา 7 วัน ก่อนจะถูกปล่อยตัวในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ในเวลาต่อมา ทัศนีย์ได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีผลวันที่ 1 กันยายน เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ประวัติด้านการทำงานในแวดวงการเมืองยังไม่ยุติเพียงเท่านี้ เพราะใน พ.ศ. 2562 ทัศนีย์ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต 1 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป ผลปรากฏว่า ทัศนีย์ได้รับเลือกตั้งอีกสมัย แต่ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2563 เธอให้การสนับสนุนนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ซึ่งเป็นคู่แข่งของผู้สมัครที่พรรคเพื่อไทยให้การสนับสนุน
นอกจากนี้ ทัศนีย์มีบทบาทในการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรหลายครั้ง เช่น การอภิปรายกรณีที่ได้กล่าวว่า ได้เขียนใบลาออกไว้ให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกทั้งยังอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐบาล โดยครั้งหนึ่งทัศนีย์เคยออกความเห็นผ่านสื่อออนไลน์ว่า รัฐบาลบริหารล้มเหลว จนทำให้ประชาชนลำบากถ้วนหน้า และทำให้ประเทศไทย แพ้ไปด้วยกัน
หลังจากที่ทัศนีย์ปฏิบัติหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 โดยทัศนีย์ก็ได้ประกาศลาออก และยุติบทบาทของ สส. พรรคเพื่อไทย ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2566 เป็นต้นมา เนื่องจากพรรคเพื่อไทยประกาศจัดตั้งรัฐบาล โดยมีพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมไทยสร้างชาติเข้าร่วมด้วย
ทัศนีย์เป็นนักการเมืองในสังกัดพรรคเพื่อไทยมามากกว่า 12 ปี และมีอุดมการณ์แน่วแน่ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยได้จัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ที่เกิดจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งยังมีจุดยืนว่าไม่ต้องการจัดตั้งรัฐบาลโดยเข้าร่วมกับพรรคสองลุง และเมื่อพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนทิศทางก็เลือกที่จะยุติประวัติเส้นทางทางการเมืองโดยทันทีค่ะ
อ้างอิง : 1