ประวัติ ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ อดีตแกนนำ กปปส. ผู้มีอุดมการณ์หนักแน่นตลอดเส้นทางการเมือง
ประวัติ ‘สุเทพ เทือกสุบรรณ’ เปิดบทบาททางการเมืองอันโชกโชน อดีตแกนนำ กปปส. ที่มีอุดมการณ์ขจัดระบอบทักษิณ พร้อมตั้งตนเป็นศัตรูแบบถาวร
การเมืองวันนี้ ยังคงเข้มข้นไม่แพ้วันไหน ๆ อีกทั้งนักการเมืองแต่ละท่านยังทำหน้าที่ไม่ซ้ำบทบาท ซึ่งทำให้ประชาชนและสังคม ต้องออกมาส่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันไม่เว้นแต่ละวัน ซึ่งไม่เพียงแต่นักการเมืองใหม่ ๆ นักการเมืองรุ่นเก๋าอย่าง สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เลื่องชื่อลือชาและมีประวัติในวงการการเมืองมาอย่างยาวนาน ก็ยังถูกพูดถึงอยู่เนือง ๆ
ด้วยความที่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นนักการเมืองมานาน คนรุ่นใหม่ที่ความทรงจำยุคเสื้อแดง-เหลืองเลือนลาง อาจจะยังไม่ทราบประวัติส่วนตัว และเส้นทางการเมืองอันโชกโชนของอดีตแกนนำ กปปส. ท่านนี้ วันนี้ทีมงาน Thaiger จะพาทุกท่านไปเจาะประวัติ พร้อมกับส่องเส้นทางการทำงานในวงการการเมือง ของอดีตรองนายกรัฐมนตรีเดินสายเป่าหวีดท่านนี้กันค่ะ
ประวัติ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตแกนนำ ปปส.
สุเทพ เทือกสุบรรณ เกิดวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 ปัจจุบันอายุ 74 ปี ภูมิลำเนาเป็นคนจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรของ นายจรัส เทือกสุบรรณ กำนันตำบลท่าสะท้อน อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และนางละม้าย เทือกสุบรรณ (สกุลเดิม ชาวนา) โดยครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของส่วนแบ่งที่สำคัญของพื้นที่เพาะปลูกต้นปาล์มน้ำมันและฟาร์มกุ้งในภาคใต้
นอกจากพ่อและแม่แล้ว สุเทพมีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งหมด 6 คน ได้แก่ สุเทพ เทือกสุบรรณ, นางศิริรัตน์ ศรีเทพ (ถึงแก่กรรม) กับนางสาวรัชนี เทือกสุบรรณ (เป็นคู่แฝด), นายเชน เทือกสุบรรณ, นางสาวจิราภรณ์ เทือกสุบรรณ, นายธานี เทือกสุบรรณ และนางสาวกิ่งกาญจน์ เทือกสุบรรณ
ในส่วนของประวัติด้านการศึกษา สุเทพสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจากโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม กรุงเทพมหานคร และเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี โดยได้วุฒิศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2515 โดยในระหว่างเป็นนักศึกษา เขาได้ทำกิจกรรมเป็นกรรมการสโมสรนักศึกษา อีกทั้งยังเป็นประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่อีกด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ สุเทพได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท M.A. Political Sciences จาก Middle Tennessee State University ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2518 อีกทั้งใน พ.ศ. 2558 สุเทพยังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาผู้นำธุรกิจสังคมและการเมือง จากวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมอีกเช่นกัน
ด้านประวัติชีวิตส่วนตัว สุเทพ เทือกสุบรรณ สมรสครั้งแรกกับ นางจุฑาภรณ์ เทือกสุบรรณ และมีบุตรธิดา 3 คน คือ แทน เทือกสุบรรณ, น้ำตาล เทือกสุบรรณ และน้ำทิพย์ เทือกสุบรรณ แต่ในภายหลังภรรยาได้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง จึงได้สมรสอีกครั้งกับศรีสกุล พร้อมพันธุ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา และเป็นอดีตภรรยาของ พรเทพ เตชะไพบูลย์ โดยสุเทพก็ได้รับบุตรของนางศรีสกุลมาเป็นบุตรบุญธรรม 3 คน คือ สิทธิพัฒน์ เตชะไพบูลย์, เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ และธีราภา พร้อมพันธุ์
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา สุเทพได้กลับมายังประเทศไทย เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น กำนันตำบลท่าสะท้อน ต่อจากผู้เป็นบิดา ผลปรากฏว่าสุเทพชนะการเลือกตั้ง ทำให้ได้เป็นกำนันตั้งแต่ยังหนุ่ม ด้วยอายุเพียง 26 ปี และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นประวัติเส้นทางการเมืองอันโชกโชนของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นี้
เริ่มบทบาทนักการเมือง หลังจากเป็นกำนันที่ท่าสะท้อน
หลังจากรับตำแหน่งนักการเมืองท้องถิ่นต่อจากผู้เป็นพ่อ สุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ผันตัวมาเป็นนักการเมืองระดับประเทศอย่างเต็มรูปแบบ โดยสุเพทได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี สมัยแรกเมื่อ พ.ศ. 2522 และหลังจากนั้นสามารถชนะเลือกตั้ง ได้เป็น สส. อย่างต่อเนื่องถึง 10 สมัย
นอกจากนี้ สุเทพยังได้ดำรงตำแหน่งสำคัญคือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 สมัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และในช่วง พ.ศ. 2548 ก็เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้ง เพราะพรรคประชาธิปัตย์ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารพรรคครั้งใหญ่ ซึ่งสุเทพได้รับเลือกเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
บทบาททางการเมืองในช่วงนั้นของสุเทพยังไม่หมดเพียงเท่านี้ เพราะใน พ.ศ. 2549 สุเทพมีบทบาทอย่างมากในคดียุบพรรคการเมือง โดยสุเทพรับหน้าที่เป็นผู้รวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อยื่นฟ้องพรรคไทยรักไทย เป็นผลให้ใน พ.ศ. 2550 พรรคไทยรักไทยถูกวินิจฉัยให้ยุบพรรค และ นายทักษิณ ชินวัตร ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ
ประวัติการทำงาน จากบทบาทยุบพรรคสู่บทบาทจัดตั้งรัฐบาล
ใน พ.ศ. 2551 ซึ่งเป็นยุคสมัยการจัดตั้งรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งนี้ สุเทพก็ได้รับบทบาทสำคัญ ในการประสานงานจัดตั้งรัฐบาล จนได้รับการขนานนามว่า ผู้จัดการรัฐบาล ซึ่งสุเทพเองก็ได้หน้าที่สำคัญคือ รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง
อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2552 สุเทพลาออกจากการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง วินิจฉัยว่า การถือครองหุ้นของสุเทพผิดรัฐธรรมนูญ ถึงจะออกจาก สส. แต่ตำแหน่งทางการเมืองยังคงอยู่ เพราะเขาก็ยังคงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเช่นเดิมต่อไป
จนกระทั่งเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 สุเทพได้ลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี เพื่อกลับไปลงสมัคร สส. จังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกครั้ง แต่เนื่องจากระหว่างนั้น การเลือกตั้งดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณายุบพรรคประชาธิปัตย์ สุเทพจึงถูกมองว่าต้องการเป็น สส. เพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีสำรอง หากถูกยุบพรรคจริง อย่างไรก็ตาม สุเทพได้กลับไปยังที่นั่งรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ภายหลังได้รับการเลือกตั้งเป็น สส. แล้วนั่นเอง
สุเทพ เทือกสุบรรณ กับประวัติแกนนำ กปปส. ที่ไม่วันถูกลืม
หลังจากบทบาทของนักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐบาล สุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ก่อตั้ง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2556
โดยสุเทพได้แต่งตั้งตนเองเป็นเลขาธิการขบวนการดังกล่าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์การ รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มนักเคลื่อนไหวนักศึกษา สหภาพแรงงานของรัฐ รวมถึงกลุ่มนิยมทหารก็ให้การสนับสนุนอีกด้วย ทั้งยังมีรายงานว่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นผู้สนับสนุนสถาบันกษัตริย์
ทั้งนี้ การสนับสนุนของ กปปส. ส่วนใหญ่มาจากชาวกรุงเทพมหานคร และชาวภาคใต้ค่อนข้างมีฐานะ โดยการแสดงออกของคนกลุ่มนี้ไม่ใช่สีเสื้อ แต่เป็นการเป่านกหวีดเพื่อเดินหน้าประท้วง โดนมีเป้าหมายขับไล่ และต้องการต่อต้านการกระทำของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงปลายปี 2556 จนถึงกลางปี 2557 ซึ่งใช้งบประมาณในแต่ละวันมากกว่า 10 ล้านบาทเลยทีเดียว
นอกจากนี้ สุเทพยังได้ประกาศเจตนาของ กปปส. อย่างชัดเจนว่า มีขึ้นเพื่อทวงอำนาจอธิปไตยจากรัฐบาลคืนสู่ประชาชน ซึ่งจะดำเนินการปฏิรูปประเทศผ่านสภาประชาชนที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังประกาศกร้าวว่า ต้องการขจัด ระบอบทักษิณ ซึ่งภาพจำของสุเทพในตอนนั้นคือชายใส่เสื้อสีเหลืองเดินเป่านกหวีดประท้วงตลอดวันนั้นเอง
จบประวัติการเมือง ขอกราบลาอุปสมบท
หลังจากประวัติทางการเมืองอันโชกโชน สุเทพก็ได้ตัดสินใจบวช ที่วัดท่าไทร และไปจำวัดที่วัดสวนโมกข์ (สวนโมกขพลาราม) จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยคืนวันที่ 14 กรกฎาคม 2557 สุเทพพร้อมญาติ 1 คน เดินทางมาพบ พระเทพพิพัฒนาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดท่าไทร และเจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี แจ้งความประสงค์จะขอบวชโดยบอกว่าไม่มีภาระอะไรแล้ว จะขอบวชเงียบ ๆ ไม่ให้ใครรู้และไม่บอกใคร
ทั้งนี้ พระเทพพิพัฒนาภรณ์ ได้โกนผมให้ตั้งแต่เมื่อช่วงกลางคืน และได้ฤกษ์อุปสมบทเมื่อเวลา 09.09 น. วันที่ 15 กรกฎาคม 2557 โดยมีผู้อยู่ในโบสถ์ประกอบพิธี 3 คน ซึ่งพระเทพพิพัฒนาภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ และให้ฉายาว่า ประภากะโร แปลว่าผู้กระทำซึ่งแสงสว่าง เมื่อบวชแล้วเสร็จห่มผ้าเหลืองเดินออกประตูโบสถ์มา มีพระลูกวัดมาพบเข้า จึงได้ขอถ่ายรูปจนมีการส่งต่อกันในโลกออนไลน์
ปิดประวัติ ดูชีวิตล่าสุดของ สุเทพ เทือกสุบรรณ
ปัจจุบัน (2566) สุเทพ เทือกสุบรรณ ยังคงมีบทบาททางการเมืองอยู่เนือง ๆ โดยหลังจากลาผนวช เขากลับมาตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย และชักชวนประชาชนให้สนับสนุน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยการจัดรายการผ่านเฟซบุ๊กเพจส่วนตัว และใน พ.ศ. 2560 เขาประกาศสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 2 อีกด้วย
และล่าสุด เดือนช่วงต้นปี 2566 สุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาประกาศสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อีกครั้ง โดยสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 3 ด้วยเหตุผลที่ว่า “มีศักยภาพในการต่อต้านระบอบทักษิณไม่ให้กลับมามีอำนาจอีก” เรียกได้ว่า อดีตแกนนำ กปปส. อย่าสุเทพ เทือกสุบรรณ กำหนดให้ ระบอบทักษิณ เป็น ศัตรูถาวร ในทางการเมือง
และนี่คือประวัติส่วนตัว และประวัติการทำงานในวงการการเมืองอันยาวนาน และบทบาทอันหนักอึ้ง พร้อมกับอุดมการณ์อันแน่วแน่ว่า ไม่เอาทักษิณ ของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลต่อการเมืองไทย และแม้จะอายุ 74 ปีแล้ว อิทธิพลดังกล่าวจากภาพจำอดีตแกนนำ กปปส. ท่านนี้ก็ไม่เคยจางหายไปตามกาลเวลาเลยแม้แต่วินาทีเดียว