เปิดประวัติ “วันฉัตรมงคล” คือวันอะไร เหตุใดจึงตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี ชวนคุณมารู้จักวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี ร.10 โดยตรง เพราะวันนี้เป็นทั้งวันบรมราชาภิเษกและยังเป็นวันประกอบพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตรอีกด้วย วันนี้มีความสำคัญอย่างไรบ้าง มาติดตามไปพร้อมกัน ณ บัดนี้
วันฉัตรมงคล ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม ของทุกปี
“วันฉัตรมงคล” หรือชื่อในภาษาอังกฤษคือ Coronation Day ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้คือวันพฤหัสบดี โดยวันฉัตรมงคล คือ วันร่วมรำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ไทยในพระบรมราชวงศ์จักรี
เหตุผลที่วันฉัตรมงคลในรัชกาลปัจจุบัน ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม เนื่องจากว่ากษัตริย์องค์ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ รัชกาลที่ 10 ได้เสด็จเข้าบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตร เครื่องราชูปโภค ฉลองสิริราชสมบัติ ในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 นับแต่ปีนั้น จึงได้ยึดเอาวันนี้เป็นวันฉัตรมงคลสืบมา
พระราชพิธีฉัตรมงคลจัดขึ้นครั้งแรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือ ในหลวงรัชกาลที่ 4 โดยในวันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคมของทุกปี รัฐบาลยังได้ประกาศให้วันดังกล่าว เป็นวันหยุดราชการ ธนาคาร และวันหยุดพนักงานเอกชนประจำปีหนึ่งวันอีกด้วย
ประวัติ วันฉัตรมงคล และความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก นับว่าเป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดต่อกันมาช้านาน โดยได้รับอิทธิพลการจัดพิธีมาจากคติอินเดีย ซึ่งของไทยเรานั้นได้รวมความฮินดูและพุทธไว้ในพิธีดังกล่าว ลักษณะและรายละเอียดของพระราชพิธีแต่เดิมเป็นอย่างไรนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
แต่จากจารึกวัดศรีชุม ที่กล่าวถึงการอภิเษกของพ่อขุนบางกลางหาวจากพ่อขุนผาเมือง ให้เป็นกษัตริย์ปกครองกรุงสุโขทัยโดยใช้พระนามว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” จึงอาจกล่าวได้ว่าพิธีบรมราชาภิเษกของกษัตริย์ไทยนั้นมีมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 18 แล้ว ซึ่งวัตถุประสงค์ที่จัดพิธีนี้ขึ้นก็เพื่อ “ป่าวประกาศให้เหล่าเทวดาฟ้าดินรับรู้ว่า บัดนี้จะมีพระมหากษัตริย์หรือพระผู้เป็นเจ้าเกิดขึ้นอีกพระองค์หนึ่งแล้ว”
หากอ้างอิงตามข้อมูลของ สารานุกรมประวัติศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้อธิบายเอาไว้ว่า วันฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คน หรือ ฉัด-มง-คน) เป็นหลักปฏิบัติ ตามธรรมเนียมเดิม ในเดือน 6 เมื่อครั้งอดีต (ตรงกับเดือนพฤษภาคม) เจ้าพนักงานทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายในที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระราชนิเวศน์ จะทำพิธีสมโภชเป็นการภายใน โดยฝ่ายในจะตั้งเครื่องสังเวย เครื่องประโคม และร้อยดอกไม้ประดับบูชา
ส่วนฝ่ายหน้าจะจัดพิธีสวดมนต์เลี้ยงพระด้วย เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 6 ขึ้น 15 ค่ำ ปีกุนตรีศก จ.ศ. 1213 ตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2394 นั้น ตรงกับเดือนที่เจ้าพนักงานทำพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลในวันคล้ายวันบรมราชาภิเษกและพระราชทานชื่อว่า “ฉัตรมงคล” โดยจัดการพระราชพิธีในเดือน 6 ขึ้น 13 14 15 ค่ำ และแรม 1 ค่ำ รวม 4 วัน
จุดกำเนิดปฏิทิน 4 พฤษภาคม วันฉัตรมงคล
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ทรงรับบรมราชาภิเษกเมื่อวันพุธ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก จ.ศ. 1230 ตรงกับวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2411 แต่ยังคงให้จัดพระราชพิธีฉัตรมงคลในเดือน 6 ตามแบบอย่างในรัชกาลที่ 4 ต่อมา จนกระทั่งเมื่อประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งที่ 2 ในวันอาทิตย์ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีระกาเบญจศก จ.ศ. 1235 ตรงกับวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416
พระองค์โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ได้รับพระราชทานพานทองด้วย ในปีต่อมาจึงย้ายเวลาจัดพระราชพิธีฉัตรมงคลจากเดือน 6 มาทำในเดือน 12 และเรียกว่า “การสมโภชพระมหาเศวตฉัตร” มีการจัดพระราชพิธีรวม 4 วัน ในเดือน 12 แรม 10 ค่ำ ถึงแรม 13 ค่ำ
สรุปได้ว่า วันฉัตรมงคล คือวันฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระมหากษัตริย์ สำหรับประเทศไทยในตอนนี้ได้ยึดถือเอาวันที่กษัตริย์ราชวงศ์จักรีในรัชกาลปัจจุบันได้ขึ้นครองราชย์ โดยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรงกับวันที่ 4 พฤษภาคม
ในวันนี้พสกนิกรชาวไทยจะได้รำลึกถึงการสถาปนาพระมหากษัตริย์ไทยในแต่ละยุคสมัย รวมถึงหน่วยงานราชการอาจมีการจัดกิจกรรมเพื่อร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอีกด้วย.
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา