ประวัติ ‘ศักดิ์สยาม ชิดชอบ’ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย
ประวัติ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รมว.คมนาคม) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย หลังมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ปมถือหุ้นบุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
ทำความรู้จัก “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” กับประวัติเส้นทางการเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รมว.คมนาคม) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย อดีตประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ชวรัตน์ ชาญวีรกูล) ในรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้ปรากฏตัวบนสื่อการเมืองอีกครั้ง หลังมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุติบทบาทหน้าที่ รมว.คมนาคม ทันที กรณีถือหุ้นและเป็นเจ้าของ ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น
ก่อนหน้านี้ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” เคยมีบทบาทสำคัญต่อการเมืองไทย ด้วยการดำรงตำแหน่งเป็น ประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนจะสมัครเข้าทำงานและเป็นหนึ่งในสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ในปี พ.ศ. 2555 ต่อมาจึงได้รับเลือกให้เป็นตำแหน่ง เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555 พร้อมกับประวัติการทำงานอื่น ๆ ในแวดวงการเมืองไทยนับแต่นันเป็นต้นมา โดยมีรายละเอียดประวัติดังต่อไปนี้ครับ
เปิดประวัติ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”
“ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” มีชื่อเล่นว่า “โอ๋” เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2505 ปัจจุบันมีอายุครบ 60 ปี เกิดที่จังหวัดสุรินทร์ บิดาคือ นายชัย ชิดชอบ ส่วนมารดาคือ นางละออง ชิดชอบ (เป็นน้องชายของนายเนวิน ชิดชอบ และพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ อดีตที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานตำรวจแห่งชาติ)
จบการศึกษา รัฐศาสตรบัณฑิต (บริหารรัฐกิจ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสาขาพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิตทางรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ก่อนหน้านี้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยเริ่มอยู่ในวาระดำรงตำแหน่ง ในวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และยังได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวชิรมงกุฎ พ.ศ. 2563 และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือก พ.ศ. 2564
ประวัติการทำงานของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”
สำหรับประวัติการทำงานและผลงานของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ย้อนกลับไปในสมัยที่ยังรับราชการในตำแหน่งปลัดอำเภอ สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย จากนั้น “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” จึงลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2548
ภายหลังได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และต่อมาในปี พ.ศ. 2550 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี สาเหตุจากเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกยุบในคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2549
กระทั่ง”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” ได้มีการแต่งตั้งให้ศักดิ์สยาม เป็นประธานคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (ชวรัตน์ ชาญวีรกูล) ในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2552 ได้รับพระราชทานยศ นายกองเอก ในรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ช่วงเวลาของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคภูมิใจไทย ลำดับที่ 15 แต่การเลือกตั้งเป็นโมฆะนั่นเอง
จากนั้น ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้รับเลือกตั้งให้เป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ในสังกัดพรรคภูมิใจไทย ในปี พ.ศ. 2562 และในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เขาได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรรมการในคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส 2019 (โควิด-19)
ต่อมาเขาถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 นับเป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ติดเชื้อดังกล่าว ซึ่งเชื่อมโยงกับคลัสเตอร์การระบาดจากคริสตัลคลับ สถานบันเทิงย่านทองหล่อ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2564
จากนั้นไม่นาน ก็ได้มีการเปิดเผยไทม์ไลน์ย้อนหลังของเขา พบว่าไม่ระบุว่าเคยเดินทางไปคริสตัลคลับ โดยอ้างว่าติดเชื้อจากเจ้าหน้าที่สำนักงานรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่าเขาสั่งให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์แก้ไทม์ไลน์กลางดึก เขาแจ้งความเอาผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 กับผู้ที่โพสต์รูปถ่ายบุคคลในผับซึ่งเขาอ้างว่าทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าเป็นเขา วันที่ 9 เมษายน 2564 มีการเปิดเผยว่ามีผู้ติดเชื้อจากเขาแล้ว 7 คน
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ ได้เดินทางสู่เส้นทางการเมือบทใหม่ เมื่อเขาได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ในปี พ.ศ. 2555 หลังจากพ้นกำหนดการตัดสิทธิทางการเมือง และต่อมาได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2555 ซึ่งก่อนหน้านั้นพี่ชาย (เนวิน ชิดชอบ) ได้ประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว
ล่าสุดในวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2566 องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการประชุมปรึกษาคดี ให้ผู้ถูกร้อง (นายศักดิ์สยาม) หยุดปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรี จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง
สืบเนื่องจากกรณี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ถูกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จํานวน 54 คน ยื่นคําร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยังมีหุ้นส่วน เป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของห้างหุ้นส่วนจํากัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ทําให้ผู้เข้าไปเกี่ยวข้องกับ การบริหารจัดการหุ้นหรือกิจการของห้างหุ้นส่วน
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคําร้องและเอกสารประกอบ คําร้อง ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง
จึงมีมติเป็นเอกฉันท์สั่งให้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ รัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม 2566 จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัยแจ้งให้คู่กรณีและนายกรัฐมนตรีทราบ
อย่งไรก็ตาม ล่าสุด “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” อดีตรมว.คมนาคม ก็ได้ใช้ความสามารถพลิกเกมจนชนะคดี “โฮปเวลล์” ที่ต่อสู้มาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ส่งผลให้คนไทยไม่ต้องเสียค่าโง่ จำนวน 2.7 หมื่นล้านบาท จนทางด้าน “นายพลพีร์ สุวรรณฉวี” สส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย ยกให้ศักด์สยามเป็น “ผู้ปิดทองหลังพระ” และประชาชนต่างชื่นชมยินดีในผลงานครั้งนี้