ชวนไปทำความรู้จัก หอยเชลล์ กับ สแกลลอป ต่างกันยังไง ทำไมถึงเป็นเมนูโปรดของใครหลายคน พร้อมส่องวิธีแยกหอยสแกลลอปแท้-ปลอมที่ควรรู้
คนชอบอาหารทะเลต้องรู้จัก หอยเชลล์ – สแกลลอป (scallop) หอยเนื้อคุณภาพสุดชุ่มช่ำ รสาติละมุนนุ่มลิ้น มาพร้อมราคาที่สูงแต่กลับเป็นที่ต้องการของตลาด วันนี้เราเลยไม่พลาด พาทุกคนไปดูด้วยกันว่าเนื้อหอยสแกลลอป มีคุณประโยชน์และเหมาะไปทำเมนูเด็ดอะไรบ้าง พร้อมพาไปเช็กลักษณะเด่นของเนื้อหอยชนิดนี้ ที่หากไม่รู้ก็อาจถูกเอาของปลอมมาหลอกขายให้เราทานได้
หอยเชลล์ – สแกลลอป (scallop) ต่างกันยังไง?
หลายคนที่เพิ่งได้ยินคำว่า ‘สแกลลอป’ ครั้งแรก อาจจะรู้สึกไม่คุ้นหู แต่ความจริงแล้วสแกลลอปคือชื่อภาษาอังกฤษของ ‘หอยเชลล์’ ที่เรารู้จักกันนั่นเอง ส่วนชื่ออีกชื่อหนึ่งที่คนนิยมเรียกกันบ่อย ๆ ก็คือ ‘หอยพัด’
เนื่องจากหอยลักษณะนี้ มีเปลือกที่คล้ายกับทรงพัด เรียงตัวเป็นริ้วที่สวยงาม ทว่าคนไทยกลับติดเรียกมันว่า ‘หอยเชลล์’ ที่แปลว่า ‘เปลือก’ มากกว่า จนทำให้เราไม่ค่อยได้พูดคำว่าหอยพัด หรือสแกลลอปกันบ่อยเท่าที่ควร
จุดเด่นของหอยสแกลลอป ที่ทำให้มันได้รับความนิยมจากผู้คนจำนวนมากก็คือ รสสัมผัสที่ให้ความหวานละมุนลิ้น มีความนุ่มเด้ง กลิ่นสะอาดไม่ค่อยมีความคาวเท่าหอยชนิดอื่น แถมยังเป็นหนึ่งในเนื้อหอยที่มีคุณภาพมากที่สุดในโลก จนกลายเป็นเมนูฮิตให้เราได้ทานกันหลายอย่าง อาทิ พาสต้าสแกลลอปทรัฟเฟิล หอยเชลล์อบชีส หอยเชลล์อบเนยกระเทียม และหอยเชลล์ผัดฉ่า เป็นต้น
ประโยชน์ด้านสุขภาพจากหอยเชลล์
หอยเชลล์ถือเป็นอีกหนึ่งมื้ออาหาร ที่มีประโยชน์ด้านดีต่อร่างกายมนุษย์ โดยเราได้ลิสต์รายละเอียดมาฝากกัน ดังนี้
- โปรตีนสูง – ฟื้นบำรุงร่างกาย เพิ่มการเผาผลาญ
- แคลอรี่ต่ำ – ไม่ทำให้เกิดการสะสมไขมัน
- มีโพแทสเซียมสูง – แหล่งเกลือแร่ มีหน้าที่การยืดหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ และการรักษาสมดุลของน้ำ
- มีทริปโตเฟน – บรรเทาอาการทางสมอง ช่วยในการนอนหลับ
- แมกนีเซียม – ควบคุมประสาท และหัวใจอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม
หอยเชลล์ สแกลลอปแท้-ปลอม ดูยังไง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความนิยมของเนื้อหอยเชลล์ เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ราคาซื้อขายของหอยชนิดนี้ มีมูลค่าที่สูงเมื่อเทียบกับอาหารประเภทต่าง ๆ ทำให้มีพ่อค้าแม่ค้าหัวใสหลายร้าน มักลักลอบขายสแกลลอปปลอมให้กับลูกค้า โดยเราได้ลิสต์วิธีสังเกตง่าย ๆ มาฝากกัน อาทิ
Surimi Scallop หรืออาจเรียกได้ว่า หอยเชลล์เทียม เป็นหอยเชลล์ที่ได้จากการผสมเศษปลาบดเข้ากับแป้ง หรือบางที่จะผสมกับเนื้อหอยอ่อน ๆ ให้ได้กลิ่น เพื่อนำมาขายในเมนูหอยเชลล์ โดยจะมีรสสัมผัสและความสากลิ้นที่ต่างจากของจริงเล็กน้อย ถ้าหากลูกค้าทราบก่อน ก็ไม่ถือว่าผิด แต่อาจมีบางรายที่นำมาแอบอ้างเป็นหอยเชลล์แท้ 100% เพื่อเอาเปรียบผู้บริโภคได้
นอกจากนี้ยังมีทริคในการสังเกตง่าย ๆ เพิ่มเติม เช่น ขายในราคาที่ต่ำจนผิดสังเกตแต่แอบอ้างว่าคุณภาพสูง, มีลักษณะกลมเท่ากันทุกชิ้นผิดธรรมชาติสิ่งมีชีวิต (แนะนำให้สอบถามเพราะบางร้านอาจมีการตัดตกแต่งหอยเชลล์แท้), ของปลอมจะมีกลิ่นคาวที่ไม่ใช่กลิ่นเฉพาะของเนื้อหอยสแกลลอป และลักษณะการเรียงของเส้นเอ็นหอยด้านในอาจต่างกัน
ทั้งนี้การรับประทานหอยสแกลลอปหรือหอยเชลล์ ผู้ที่มีอาการแพ้อาหารบางอย่าง ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า หอยที่ทานเป็นของแท้หรือไม่ เนื่องจากบางแหล่งผลิตที่ใช้หอยเชลล์เทียม อาจมีส่วนผสมของอาหารบางอย่างที่ท่านแพ้ จนทำให้เผลอทานไปแบบไม่รู้ตัวได้.