รู้จัก ‘วันเหมายัน’ 22 ธันวาคม 2565 ที่มาปรากฏการณ์ตะวันอ้อมข้าว
ชวนรู้จัก วันเหมายัน อ่านว่า เห-มา-ยัน หรือภาษาอังกฤษคือ Winter Solstice ปีนี้ตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม 2565 วันนี้มีความหมายอะไร เกิดจากความเชื่อใด และแตกต่างจากวันครีษมายันอย่างไร พาคุณไปรู้จักเกร็ดความรู้ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับวันนี้กัน
วันเหมายัน คือวันอะไร
วันเหมายัน หรือ ทักษิณายัน เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อย่างหนึ่ง โดยวันเหมายันคือวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด หรือกล่าวได้ว่าดวงอาทิตย์โคจรไปถึงจุดหยุด ซึ่งเป็นจุดทางใต้สุดในฤดูหนาวของซีกโลกเหนือ ทำให้ช่วงเวลากลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน
นอกจากนี้ วันเหมายัน ยังถือเป็นวันแรกของการเข้าสู่ฤดูหนาวสำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ โดยวันเหมายันในปีนี้ดวงอาทิตย์จะปรากฏบนท้องฟ้าราว ๆ 11 ชั่วโมง 19 นาทีเท่านั้น โดยดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06:36 น. และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 17:55 น.
วันเหมายันแตกต่างจากวันครีษมายันอย่างไร
วันเหมายันจะตรงข้ามกับ วันครีษมายัน (Summer Solstice) ซึ่งเป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวนานกว่ากลางคืน โดยจะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน ตรงกับฤดูร้อน และมีวันพิเศษอีก 2 วันที่กลางวันและกลางคืนยาวนานเท่ากัน คือ วันวสันตวิษุวัตและวันศารทวิษุวัต
ความเชื่อของวันเหมายัน
คนไทยจะเรียกวันเหมายันว่าปรากฏการณ์ “ตะวันอ้อมข้าว” โดยมีที่มาของความเชื่อเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่มีความเกี่ยวโยงกับคนไทยมากที่สุด ตำนานเล่าว่า ช่วงที่เกิดปรากฏการณ์ตะวันอ้อมข้าว เป็นช่วงที่พระแม่โพสพกำลังตั้งครรภ์ ดวงอาทิตย์จึงทำความเคารพพระแม่ด้วยการไม่โคจรข้ามศีรษะของท่าน แล้วเปลี่ยนเส้นทางโคจรอ้อมไปทางทิศใต้แทน
นอกจากนี้ตะวันอ้อมข้าวยังเป็นสัญญาณที่บอกให้เกษตรกรเตรียมตัวเก็บเกี่ยวผลผลิต เนื่องจากฤดูหนาวมาถึงแล้วนั่นเอง
ซึ่งแต่ละภาคจะมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันเหมายัน หรือ ตะวันอ้อมข้าว ต่างกันไป โดยในภาคอีสานจะมีประเพณีบุญคูนลาน ภาคเหนือมีประเพณีทานข้าวใหม่ ภาคใต้มีประเพณีทานไฟ เป็นต้น.