วันคริสต์มาส 25 ธันวาคม ฉลองเทศกาลแห่งความสุข ความอบอุ่นในฤดูหนาว
เข้าสู่เดือนธันวาคมทีไร หลายคนต่างก็เฝ้ารอคอยที่จะเฉลิมฉลองในวันแห่งความสุขอย่าง “วันคริสต์มาส” โดยในปีนี้วันคริสต์มาสก็ตรงกับ วันอาทิตย์ที่ 25 ธันวาคม 2022 ซึ่งเป็นวันหยุดสุดสัปดาห์พอดี ทั้งบรรดาห้างร้าน สำนักงาน หรือองค์กรต่างก็พากันประดับตกแต่งสถานที่ให้เข้ากับฤดูกาลแห่งความสุขในช่วงหน้าหนาวนี้
อาจกล่าวได้ว่าวันคริสต์มาสเป็นเทศกาลสุดอบอุ่นที่คอยเยียวยาจิตใจใครหลาย ๆ คนท่ามกลางความเยือกเย็นของฤดูหนาว และถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้นับเอาวันคริสต์มาสเป็นวันหยุดราชการเหมือนกับประเทศในโซนตะวันตก เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ แต่ด้วยสังคมพหุวัฒนธรรมจึงทำให้คนไทยส่วนมากร่วมเฉลิมฉลองในเทศกาลคริสต์มาสนี้เหมือนกับหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก
25 ธันวาคม 2022 ‘วันคริสต์มาส‘ เทศกาลแห่งความรื่นเริง
หลายคนอาจจะพอทราบคร่าว ๆ เกี่ยวกับประวัติที่มาและความสำคัญของวันคริสต์มาสกันมาบ้างแล้ว โดยเป้าหมายสำคัญของการฉลองคริสต์มาสคือการเฉลิมฉลองให้แก่วันประสูติของพระเยซู ผู้เป็นศาสดาของชาวคริสต์ทั้งหลาย ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าวันเกิดของพระเยซูคือวันที่ 25 ธันวาคม (เพราะเราฉลองคริสต์มาสกันในวันนี้) แต่ขอบอกเลยว่าผิดถนัดจ้า
รู้แบบนี้ก็คงสงสัยกันใช่ไหมละว่า ในเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ไม่ใช่วันประสูติพระเยซู แต่ทำไมเราถึงฉลองเทศกาลคริสต์มาสกันในวันนี้ แล้วคำว่าคริสต์มาสมาจากไหน เกี่ยวข้องอย่างไรกับการเกิดของพระเยซู ซึ่งในวันนี้ทางเดอะไทยเกอร์ก็ได้รวบรวมคำตอบมาฝากทุก ๆ คนกันด้วย พร้อมทั้งเกร็ดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับวันคริสต์มาส ที่จะทำให้การฉลองวันประสูติของพระเยซูในปีนี้พิเศษกว่าที่ผ่านมา
ประวัติ ‘วันคริสต์มาส’ ฉลองวันประสูติพระเยซู ที่ไม่มีในไบเบิล?
เป็นที่ทราบกันดีโดยทั่วไปอยู่แล้วว่าชาวคริสต์ฉลอง “วันคริสต์มาส” หรือ “วันสมโภชพระคริสตสมภพ” เนื่องจากเป็นการแสดงความยินดีให้กับวันที่พระเยซูประสูติลงมายังโลกมนุษย์ แม้ในความเป็นจริงแล้วในคัมภีร์ไบเบิลจะไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าพระองค์เสด็จลงมาเกิดเมื่อไรกันแน่
แต่ก็พบว่าบรรดาคริสตชนมีหลากหลายเหตุผลในการสนับสนุนให้วันที่ 25 ธันวาคม เป็นวันประสูติของพระเยซู ทั้งความคิดที่ว่าวันที่ 25 เป็นเวลา 9 เดือนพอดีนับตั้งแต่วันแม่พระรับสาร (วันที่พระแม่มารีย์เริ่มตั้งครรภ์พระเยซู) หรือจะทฤษฎีที่ว่าวันดังกล่าวตรงกับวันเหมายันของชาวโรมัน อย่างไรก็ตามชาวยุโรปในยุคโบราณก็ได้มีการจัดงานฉลองช่วงกลางฤดูหนาว (Midwinter) ก่อนที่พระเยซูจะประสูติเสียอีก
สำหรับสาเหตุที่วันคริสต์มาสเป็นที่นิยมในหลาย ๆ ประเทศทางฝั่งตะวันตกนั้น ไม่ได้มีเพียงเหตุผลในการเฉลิมฉลองวันเกิดพระเยซูเพียงอย่างเดียว แต่การทำให้วันคริสต์มาส (เทศกาลฉลองของชาวคริสต์) เป็นที่รู้จัก ย่อมจะช่วยทำให้ศาสนานอกรีตอื่น ๆ เลือนลางหายไปในที่สุด
ส่วนหนึ่งมาจากการฉลองวันคริสต์มาสที่ถูกปรับเปลี่ยนไปตามวัฒนธรรมในแต่ละพื้นที่ กว่าที่ชนพื้นเมืองจะรู้ตัวอีกที ศาสนาคริสต์ก็เข้าไปมีอิทธิพลต่อสังคมนั้น ๆ อย่างเต็มรูปแบบผ่านการรุกคืบพื้นที่ทางประเพณีที่กลมกลืนไปกับความเป็นท้องถิ่น ทั้งนี้ก็ได้มีหลักฐานระบุไว้ว่าชาวคริสต์เริ่มฉลองวันคริสต์มาสครั้งแรกกันในปี ค.ศ. 330
ทำไมต้อง ‘คริสต์มาส’ Christmas คำนี้มีที่มาอย่างไร
ตามประวัติของวันคริสต์มาสแล้ว วันดังกล่าวมีขึ้นเพื่อฉลองการมาเกิดของพระเยซู แต่ที่ชาวคริสต์ไม่เรียกวันที่ 25 ธันวาคมว่า “วันเกิดพระเยซู” นั่นเป็นเพราะแต่เดิมแล้วในวันคริสต์มาสชาวคริสต์จะฉลองด้วยการทำ “พิธีมิสซา” หรือ “พิธีศีลมหาสนิท” เพื่อแสดงตนเป็นคริสตชน (เหมือนชาวพุทธแสดงตนเป็นพุทธมามกะ) โดยมีชื่อเรียกว่า “พิธีมิสซาของพระคริสต์”
คำว่า พิธีมิสซาของพระคริสต์ กำเนิดมาจากคำว่า “Cristes mæsse” ซึ่งเป็นคำในภาษาอังกฤษโบราณ และถูกปรับเปลี่ยนเป็นคำว่า “Christemasse” กระทั่งกลายมาเป็นคำว่า “Christmas” อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีการเขียนคำย่อคริสต์มาสว่า “Xmas” อีกด้วย โดยตัวอักษร X มาจากภาษากรีกคำว่า “Χριστός” หมายถึง คริสต์ ส่วนคำว่า mas มาจาก Mass ในภาษาละตินที่มีรากศัพท์มาจากคำว่า “Missa”
‘ซานตาคลอส’ ภาพจำตัวแทนของคุณลุงใจดีในวันคริสต์มาส
แน่นอนว่าเมื่อกล่าวถึงวันคริสต์มาส อีกสิ่งหนึ่งที่เราจะนึกถึงจากการเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความสุขแบบนี้ก็คือประเพณี “การแลกของขวัญ” ทั้งนี้ชาวคริสต์ก็มีความเชื่อในเรื่องของขวัญวันคริสต์มาสด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเด็ก ๆ จะตื่นเต้นและให้ความสำคัญกับของขวัญวันคริสต์มาสเป็นพิเศษ
เพราะเมื่อวันคริสต์มาสมาถึง เหล่าเด็ก ๆ ก็จะได้รับของขวัญวิเศษจากชายคนหนึ่งนามว่า “ซานตาคลอส” (Santa Claus) หรือที่เราเรียกกันสั้น ๆ ว่า “ซานต้า” ซึ่งตามตำนานของชาวตะวันตกเชื่อว่าซานตาคลอสนั้นเป็นชื่อของ “นักบุญนิโคลัส” หรือ “เซนต์นิโคลัส” ชายชาวตุรกีผู้มีจิตใจเมตตาบริจาคทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แก่คนยากไร้โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ
นอกจากนี้ยังมีบางตำนานเล่าว่านักบุญนิโคลัสได้ปีนขึ้นไปบนปล่องไฟของแต่ละบ้านเพื่อหย่อนเศษเหรียญไว้ให้เด็ก ๆ แล้วบังเอิญเหรียญก็ตกลงไปในถุงเท้าที่แขวนอยู่หน้าเตาผิงพอดี จึงกลายเป็นที่มาของธรรมเนียมการแขวนถุงเท้าหน้าเต้าผิงเพื่อรอซานต้านำของขวัญมาใส่ให้
อีกทั้งชาวตะวันตกยังมีความเชื่อเกี่ยวกับซานตาคลอสว่าเป็นคุณลุงที่คอยส่งของขวัญให้เหล่าเด็ก ๆ ในค่ำคืนวันคริสต์มาสอีฟ (วันที่ 24 ธันวาคม เป็นวันก่อนถึงวันคริสต์มาส) โดยซานต้าจะส่งของขวัญให้แก่เด็ก ๆ ที่มีรายชื่ออยู่ในลิสต์เด็กดี และส่งถ่านหินไปให้เด็กที่อยู่ในรายชื่อเด็กเกเร
แต่ในปัจจุบันก็เป็นที่กระจ่างแจ้งแล้วว่าคุณลุงซานต้าแท้จริงก็คือเหล่าผู้ปกครองของน้อง ๆ หนู ๆ นั่นแหละเป็นคนนำของขวัญมาใส่ในถุงเท้าไว้ให้ โดยเหล่าผู้ปกครองจะออกอุบายให้เด็ก ๆ เขียนคำขอถึงซานต้า จากนั้นก็จะย่องนำของขวัญมาใส่ไว่ในถุงเท้าของเด็ก ๆ คืนวันคริสต์มาสอีฟ
ส่วนคำว่า “ซานตาคลอส” มาจากภาษาดัชต์ที่เรียกนักบุญนิโคลัสหลังเสียชีวิตในปี ค.ศ. 340 ว่า “Sint Nikolaas” หรือ “Sinter Klaas” กระทั่งประเพณีวันคริสต์มาสถูกเผยแพร่เข้าไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้เกิดการเรียกชื่อนักบุญนิโคลัสเพี้ยนออกไปกลายเป็น “Santa Claus” อย่างที่ได้ยินกันในปัจจุบัน
เขียว-แดง สีที่เป็นสัญลักษณ์ของเทศกาลคริสต์มาส
เมื่อพูดถึงวันคริสต์มาส ภาพที่ผุดขึ้นมาในหัวก็จะต้องประกอบไปด้วยสีเขียวและสีแดงก่อนสีอื่นใดอย่างแน่นอน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสีประจำวันคริสต์มาสไม่ได้มีเพียงแค่ 2 สีดังกล่าวเท่านั้น แต่ยังมีสีขาวและสีทองรวมอยู่ด้วย ซึ่งแต่ละสีก็มีความหมายแตกต่างกันดังนี้
1. สีแดง เป็นสีที่มาจากผลของต้นฮอลลี่ ต้นไม้พุ่มเตี้ยชนิดหนึ่ง โดยจะมีความหมายแทนโลหิตของพระเยซูที่ไหลลงบนกางเขน เป็นสัญลักษณ์และตัวแทนความรักที่มีต่อพระเจ้า
2. สีเขียว มาจากสีของใบต้นฮอลลี่ เป็นสีแทนความเป็นนิรันดร์ และสัญลักษณ์ของความหวัง ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของวันคริสต์มาส
3. สีขาว เป็นตัวแทนของศาสนาคริสต์ แสดงถึงความบริสุทธิ์ ความสุข และความเจริญรุ่งเรือง
4. สีทอง เป็นสีของดวงดาวและแสงเทียน บ่งบอกถึงความอบอุ่นและความสว่างไสวในช่วงเทศกาลวันคริสต์มาส
แม้สังคมไทยจะเป็นสังคมที่เต็มไปด้วยชาวพุทธซะส่วนใหญ่ แต่กลับเป็นสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอย่างมากอีกสังคมหนึ่งในโลก ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่คนไทยก็จะร่วมฉลองไปกับเทศกาลแห่งความสุขอย่างวันคริสต์มาสเช่นเดียวกับประชากรในแถบซีกโลกตะวันตก
เพราะด้วยคอนเซ็ปต์ของวันคริสต์มาสที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นท่ามกลางฤดูหนาว งานเลี้ยงรื่นเริง และการเฉลิมฉลอง จึงทำให้คนไทยยึดถือวันคริสต์มาสเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ควรค่าแก่การมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะทำกิจกรรมร่วมกับครอบครัวหรือคนรักก็ตาม
และเนื่องในโอกาสวันคริสต์มาส ทีมงานเดอะไทยเกอร์ขอร่วมอวยพรให้ทุกคนเฉลิมฉลองกันอย่างมีความสุข Merry Christmas สุขสันต์วันคริสต์มาส!