“หุ้น More” เบี้ยวชำระเงิน 4.5 พันล้าน หวั่นกระทบหนัก 20 โบรกเกอร์
รายงานความคืบหน้าข่าว บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ หุ้น MORE ต้องชำระราคาราคาค่าหุ้น ราคาประมาณ 4,500 ล้านบาท อาจส่งผลกระทบต่อโบรกเกอร์ ประมาณ 14-20 ราย บางโบรกเกอร์อาจมีความเสียหายมากถึง 1,000 ล้านบาท ตลาดหลักทรัพย์และสมาคมโบรกเกอร์เตรียมแถลงแนวทางแก้ปมผิดนัดชำระค่าหุ้นในเช้าวันนี้ 14 พฤศจิกายน 2565
เช้าวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เตรียมจับตาข่าวหุ้น MORE อย่างใกล้ชิด ปมปัญหาเคลียร์ชำระราคาค่าซื้อ-ขายหุ้น MORE วงเงินสูงถึง 4.5 พันล้านบาท ส่งผลให้วงการโบรกเกอร์กำลังปั่นป่วนหนัก พร้อมเร่งหาทางออกร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ สาเหตุมาจาก บัญชีรายการซื้อขายหุ้นของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ “หุ้น MORE” เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2565 ที่บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) มีการตั้งคำสั่งซื้อ (ATO) อยู่ที่ระดับราคา 2.90 บาท พบว่ามีปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ 1,531.77 ล้านหุ้น คำนวณได้มูลค่าสูงถึง 4,442.13 ล้านบาท จากนั้นราคาปรับตัวลดลงต่อเนื่องจนราคาต่ำสุด (Floor) ที่ 1.95 บาท โดยตลอดทั้งวันมีมูลค่าซื้อ-ขายสูงถึง 7,142 ล้านบาท
กระทั่งเมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ราคาลดลงต่อเนื่อง เปิดตลาดที่ราคา Floor 1.37 บาท หรือลดลง 29.74% และปิดตลาดภาคเช้าที่ราคาดังกล่าว หากราคามีความผันผวน ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงในการซื้อ-ขายได้ ทั้งนี้ รายการจำนวนการซื้อขายหุ้น MORE ปริมาณมาก ทำให้โบรกเกอร์ที่ได้รับคำสั่งซื้อสงสัยว่าอาจมีความผิดปกติเกิดขึ้น จนพบว่ามีโบรกเกอร์จำนวน 14-20 ราย ได้รับคำสั่งซื้อ ATO ที่ 2.90 บาท
โบรกเกอร์จำนวน 20 กว่าราย ที่ได้รับคำสั่งซื้อ ATO ที่ 2.90 บาท ได้พบข้อมูลที่มุ่งเป้าไปยังโบรกเกอร์ที่ชื่อว่า นาย ป. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรกของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ในส่วนของคำสั่งขายพบว่ามาจาก “เสี่ย ม.” ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของหุ้น MORE
อย่างไรก็ตาม ตัวแทนโบรกเกอร์ได้เข้าหารือกับสำนักงานคณะกรรมกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาให้คำสั่งซื้อดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากประเมินว่าหุ้น MORE มีสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติ ทั้งนี้ทาง ก.ล.ต. ชี้แจงว่า หากทำให้รายการเป็นโฆฆะ อาจส่งกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ทำรายการด้วย และมองว่าเรื่องนี้เกิดมาจากความประมาทของโบรกเกอร์
ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์จึงขอให้ผู้ลงทุนพิจารณาปัจจัยพื้นฐานและสารสนเทศที่แจ้งผ่านระบบตลาดหลักทรัพย์ให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องกับหลักทรัพย์ MORE อย่างเคร่งครัดและระมัดระวัง เพื่อป้องกันการส่งคำสั่งซื้อ-ขายที่อาจไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในอนาคตนั่นเอง
รายชื่อผู้ถือหุ้น 10 อันดับแรกของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ “หุ้น MORE” ประกอบด้วย
- อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ ถือหุ้น 1,547.20 ล้านหุ้น คิดเป็น 23.69%
- บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ถือหุ้น 886.52 ล้านหุ้น คิดเป็น 13.57%
- ศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล ถือหุ้น 742.86 ล้านหุ้น คิดเป็น 11.37%
- อภิมุข บำรุงวงศ์ ถือหุ้น 586.77 ล้านหุ้น คิดเป็น 8.98%
- วสันต์ จาวลา ถือหุ้น 431.98 ล้านหุ้น คิดเป็น 6.61%
- สามารถ ฉั่วศิริพัฒนา ถือหุ้น 279.00 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.27%
- UOB KAY HIAN PRIVATE LIMITED ถือหุ้น 193.74 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.97%
- อรเก้า ไกยสิทธิ์ ถือหุ้น 136.11 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.08%
- เอกภัทร พรประภา ถือหุ้น 122.11 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.87%
- จิระวรรณ ไชยพงศ์ผาติ ถือหุ้น 85.13 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.30%
สำหรับหุ้นของ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) หรือ “หุ้น MORE” คือหุ้นที่ดำเนินการธุรกิจหลัก 3 อย่าง ได้แก่ ธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน (Energy Saving) และธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับพลังงานทดแทน (Renewable Energy) ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทและบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท พี เพาเวอร์ แพลนท์ จำกัด และบริษัท อีเอสพี รี-ไล้ฟ์ แบตเตอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด
ธุรกิจวางระบบน้ำประปาเพื่อบริหารจัดการน้ำประปาบนเกาะเสม็ด ดำเนินการโดย บริษัทย่อยคือ บริษัท เสม็ด ยูทิลิตี้ส์ จำกัด ธุรกิจด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินการโดยบริษัทย่อยคือ บริษัท มอร์ พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (ชื่อเดิมคือ บริษัท ดีเอ็นเอ เรฟโวลูชั่น จำกัด)
อย่างไรก็ตามจากปมปัญหาเคลียร์หุ้น More จำนวน 4.5 พันล้านบาทดังกล่าว ส่งผลให้ ในวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2565 หากผู้ส่งคำสั่งซื้ไม่สามารถนำเงินมาชำระเงิน (เคลียร์ริ่ง) ที่จะครบดีล T+2 ได้ ผู้เป้นโบรกเกอร์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบธุรกรรมครั้งนี้ทั้งหมด ซึ่งบางโบรกเกอร์สูงเกือบ 1,000 ล้านบาท นั่นแปลว่าความเสียหายก็จะเกิดขึ้นกับโบรกเกอร์ทันที.