วันคนพิการแห่งชาติ 12 พ.ย. 65 ตระหนักคุณค่าผู้พิการ เช็กสิทธิคนพิการมีอะไรบ้าง
ทำความรู้จัก “วันคนพิการแห่งชาติ” จัดขึ้นทุกวันเสาร์ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายน ปีนี้ตรงกับวันที่ 12 พฤศจิกายน 2565 เพื่อให้ความสำคัญ ช่วยเหลือ และทำการสนับสนุน ผู้พิการไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น พร้อมตระหนักถึงคุณค่าศักดิ์ศรีของผู้พิการไทย และสิทธิประโยชน์ที่ผู้พิการควรได้รับตาม มาตรา 20
วันคนพิการแห่งชาติปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน 2565 (หรืออาจจัดงานในวันจันทร์ที่ 14 พฤศจิกายน 2565) มักจะจัดขึ้นในวันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 เดือนพฤศจิกายนของทุกปี กำหนดโดยสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการได้พบปะ สังสรรค์ แสดงความ สามารถในด้านต่างๆ และเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ เกี่ยวกับการบำบัด รักษา การป้องกันและฟื้นฟู สมรรถภาพ รวมทั้งเพื่อให้คนทั่วไป ได้เห็น ถึงศักยภาพ ศักดิ์ศรีและคุณค่าของคนพิการของคนพิการ
วันผู้พิการแห่งชาติมีสัญลักษณ์ประจำวันคือ “ดอกแก้วกัลยา” คือ ชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่งซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามดอกไม้ประดิษฐ์โดยคนพิการของศูนย์ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการ ทั้งยั้งทรงพระราชทานพระอนุญาตให้ใช้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของคนพิการ
ทั้งนี้ผู้พิการในประเทศไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 หรือ ตามกฎหมายอื่นกำหนด ได้แก่
- การฟื้นฟูสมรรถภาพโดยกระบวนการทางการแพทย์
- การคุ้มครองสิทธิคนพิการทางการศึกษา
- การส่งเสริมอาชีพและคุ้มครองการมีงานทำของคนพิการ
- การคุ้มครองสิทธิคนพิการทางสังคมและสวัสดิการ
- การจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก
- บริการให้กู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพ
- การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ
- การจัดบริการล่ามภาษามือ
- การสนับสนุนผู้ช่วยคนพิการ
- การลดหย่อนค่าโดยสารขนส่งสาธารณะสำหรับคนพิการ
สำหรับความหมายของ “คนพิการ” ถูกกำหนดนิยาม ตามประกาศกระทรวงการพัฒนา สังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 กำหนดไว้ดังนี้ “คนพิการ” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีความสามารถถูกจำกัดให้ปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน และการมีส่วนร่วมทางสังคมได้โดยวิธีการทั่วไป เนื่องจากมีความบกพร่องทางการมองเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญาและการเรียนรู้และมีความต้องการจำเป็นพิเศษ ด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตและมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างบุคคลทั่วไป ซึ่งแบ่งประเภทผู้พิการในไทยได้ 6 ลักษณะดังนี้
1. พิการทางการมองเห็น
คนที่มีสายตาข้างที่ดีกว่าเมื่อใช้แว่นสายตาธรรมดา แล้วมองเห็นน้อยกว่า 6/18 หรือ 20/70 จนมองไม่เห็นแม้แต่แสงสว่าง หรือมีเลนส์สายตาแคบกว่า 30 องศา
2. พิการทางการได้ยินและสื่อความหมาย
เด็กอายุน้อยกว่า 7 ปี ลักษณะความพิการ คือ หูตึงปานกลาง หูตึงมาก หูตึงรุนแรง หูหนวก ความดังเฉลี่ยเกิน 40 เดซิเบล จนไม่ได้ยิน ระดับความผิดปกติ 2 ถึง 5 เด็กอายุเกิน 7 ปี ถึงผู้ใหญ่ ลักษณะความพิการ คือ ความผิดปกติ หูตึงมาก หูตึงรุนแรง หูหนวก ความดัง 55 เดซิเบลขึ้นไป ระดับความผิดปกติ 2 ถึง 5 การสื่อสาร
3. พิการทางกาย หรือการเคลื่อนไหว
คนที่มีความผิดปกติหรือความบกพร่องของร่างกายเห็นชัดเจน และคนที่สูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว ทำให้ไม่สามารถประกอบกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้
4. พิการทางจิตใจหรือพฤติกรรม
เป็นคนที่มีความผิดปกติ ความบกพร่องทางจิตใจ หรือสมองในส่วนรับรู้ อารมณ์ ความคิด จนไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมที่จำเป็นในการดูแลตนเอง หรืออยู่ร่วมกับผู้อื่น
5. พิการทางสติปัญญาหรือการเรียนรู้
ลักษณะพิการ คือ คนที่มีความผิดปกติ หรือความบกพร่องทางสติปัญญาหรือสมอง จนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยวิธีการศึกษาปกติได้
6. พิการซ้ำซ้อน
คือมีความพิการมากกว่า 1 ลักษณะขึ้นไป
รายละเอียดความพิการของผู้พิการแต่ละประเภทมีในกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534