ไขความหมาย ‘ชะลอม’ โลโก้ เอเปค 2022 มีที่มาแนวคิดอย่างไร
เผยเส้นทางกว่าจะมาเป็น “ชะลอม” โลโก้เอเปค 2022 สะท้อนแนวคิด เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล มีที่มาอย่างไร ทำไมต้องใช้สัญลักษณ์ชะลอม ในการประชุมเอเปค วันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพ
“ชะลอม” ตราสัญลักษณ์ APEC 2022 Thailand ออกแบบโดย นายชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง นิสิตภาควิชาสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสัญลักษณ์เครื่องจักสานเอาไว้บรรจุสิ่งของที่ทำจากไม้ไผ่ เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 เพื่อนำมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญในงานประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค 2022 วันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพ
ทั้งนี้ โลโก้ชะลอม มีความหมายโดยรวมสื่อถึงการค้าที่เปิดกว้าง เชื่อมโยงมิตรภาพเข้าด้วยกัน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับคำขวัญของงานประชุมเอเปค 2565 คือ Open-Connect-Balance แปลว่า เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล โดยที่แตะละคำมีความหมายสำคัญที่เชื่อมโยงกับโลโก้และหัวข้อหลักในการประชุมเอเปค 2022 ดังนี้
ไขความหมายที่มา “ชะลอม” โลโก้เอเปค 2022
จากที่กล่าวไปข้างต้นว่า “ชะลอม” คือเครื่องจักสานไทยชนิดหนึ่งที่ทำจากไม้ไผ่เรียงร้อยเข้าด้วยกันจนกลายเป็นโครงพื้นที่กว้างเอาไว้ใส่สิ่งของต่าง ๆ สื่อความหมายถึงหัวข้อหลักในการประชุมเอเปค 2022 คือ OPEN-CONECT-BLANCE และเป็นการแสดงให้เห็นถึง ความร่วมมือที่ไทยผลักดัน สร้างความตระหนักรู้ ความรู้สึกมีส่วนร่วมในสังคม และเป็นโอกาสให้เยาวชนไทยได้แสดงความสามารถและศักยภาพของตนเอง
สำหรับเส้นตอกไม้ไผ่ที่สานกันเป็นชะลอม 21 ช่อง สื่อถึง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค โดยสีเส้นตอก 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สื่อถึง OPEN การเปิดกว้าง สีชมพู สื่อถึง CONNECT การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง และสีเขียว สื่อถึง BALANCE ความสมดุลระหว่างกัน อีกทั้งชะลอมซึ่งเป็นโลโก้เอเปค 2022 ยังมีสัญลักษณ์ที่สามารถแตกความหมายออกมาได้ดังนี้
OPEN : เปิดกว้างสัมพันธ์
คำขวัญแรกของการประชุมเอเปค 2022 คือ OPEN หรือ ความสัมพันธ์ที่เปิดกว้าง สอดคล้องกับชะลอมที่มีลักษณะปลายเปิดไว้ใช้ใส่สิ่งของต่าง ๆ จึงเปรียบได้กับการสื่อการค้าลงทุนที่เปิดกว้าง
CONECT : เชื่อมโยงกันและกัน
คำขวัญคำที่สองคือ CONECT แปลว่าการเชื่อมโยงถึงกัน เกี่ยวข้องกับลักษณะการใช้งานของชะลอม ที่มีหน้าที่ไว้ใส่สิ่งของเพื่อขนส่ง จึงมีความหมายถึงความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค และประเทศสมาชิกเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมประชุมเอเปค 2022 ในครั้งนี้
BALANCE : ความสมดุล
อย่างที่ทราบกันดีว่า “ชะลอม” ทำจากไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เข้ากันกับหัวข้อหักเรื่อง รูปแบบเศรษฐกิจ BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่พัฒนาต่อยอดจากจุดแข็งของประเทศไทยคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั่นเอง
นอกจากนี้ตราสัญลักษณ์ชะลอมจะมีทั้งหมด 21 ช่อง สื่อความหมายถึง สมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วยสีน้ำเงิน สีชมพู และสีเขียว
เมื่อนำความหมายของ “ชะลอม” ทั้งหมดมารวมเข้าด้วยกัน จึงสรุปได้ว่าการประชุมเอเปค 2022 ในครั้งนี้ คือการเปิดกว้างความหลากหลาย เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้พัฒนาต่อไปในประเทศ 21 เขตเศรษฐกิจ พร้อมทั้งตระหนักถึงการใช้รูปแบบเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
รู้จัก “ชะลอม” เครื่องจักสานไทย ดังไกลสู่เวทีโลก
ชะลอม มีอีกชื่อหนึ่งว่า ช้าลอม หรือ กะลอม (Round bamboo basket) เป็นเครื่องจักสานชนิดหนึ่ง ที่ทำจากตอกไม้ไผ่ สำหรับใส่ของใช้ต่าง ๆ นิยมพกติดตัวระหว่างการเดินทางไกล หรือนำไปเป็นของขวัญให้กับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
ชะลอมมีลักษณะเป็นปากกลม ก้นหกเหลี่ยม สานด้วยตอกไผ่บาง ๆ สานเป็นลวดลายเฉลวหรือลายตาเข่งห่าง บริเวณส่วนปลายตอกยืนที่ปากไว้โดยไม่สาน เพื่อรวบมัดหรือผูกเข้าหากันเพื่อเป็นหูหิ้วสำหรับพกพาในการเดินทาง วิธีใช้คือใบตองกรุภายในก่อนใส่ผลไม้เพื่อไม่ให้ผลไม้มีรอยช้ำ หรือตกหล่นจากตาของชะลอม
ชะลอมส่วนใหญ่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เชนติเมตร สูง 10 เซนติเมตรจนถึงขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 30 เซนติเมตร สูง 30-40 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับลักษณะของสิ่งของที่ใช้บรรจุ
เรียกว่า ชะลอม ซึ่งมีโอกาสได้เป็นตราสัญลักษณ์สำคัญในการประชุม APEC 2022 Thailand ซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพจัดงาน ในวันที่ 18-29 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานครฯ จะได้ปรากฎสู่สายตาชาวโลก พร้อมทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนไทยที่พร้อมก้าวเดินสู่เวทีในระดับสากลนับจากนี้อีกด้วย.