รำลึกความสำคัญ วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม 2565 วันสำคัญประจำเดือนตุลาคม อ่านที่มาและประวัติของวันนี้ ผ่านเกร็ดความรู้ 23 ข้อ
วันปิยมหาราช ตรงกับวันที่ 23 ตุลาคม 2565 วันนี้มีความสำคัญอย่างไร เหตุใดจึงต้องมีการรำลึกถึงการจากไปขององค์กษัตร์ย์รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาร่วมติดตามเกร็ดประวัติศาสตร์ชวนให้รู้ พร้อมเรื่องราวของสมเด็พระปิยมหาราชผู้นี้ ไปพร้อมกันเลยค่ะ
1. วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเสด็จสวรรคตด้วยโรคไต (พระวักกะ) เมื่อปี พ.ศ. 2453 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ขณะที่พระองค์ มีอายุ 57 พรรษา
2. วันปิยมหาราช 2565 ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งครบรอบ 112 ปีแห่งการสวรรคตของสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5
3. ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม เป็นวันสำคัญของชาติในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อรำลึกถึงการสวรรคตของล้นพ้นรัชกาลที่ 5 โดยถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการของทุกปี
4. วันปิยมหาราชถือเป็นวันสวรรคตของพระมหากษัตริย์ไทยที่ครองราชย์นานมากพระองค์หนึ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครองราชสมบัติยาวนานถึง 42 ปีจวบจนถึงวันสวรรคต
5. รัชกาลที่ 5 เป็นพระโอรสองค์ที่ 4 ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประสูติตรงกับวันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2396 ทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ แปลว่า พระเกี้ยวหรือที่ประดับผมของเด็กสมัยโบราณ
6. ชื่อเดิมของรัลกาลที่ 5 ที่แปลว่าพระเกี้ยวได้กลายมาเป็นตราสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยใจกลางเมืองอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงวันประสูติของพระองค์ที่ตรงกับวันอังคารก็ได้กลายมาเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน
7. รัชกาลที่ 5 ได้สมญานามว่า พระปิยมหาราช แปลว่า พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักของปวงประชา เป็นเพราะตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์ ทรงเป็นที่รักใคร่ของพสกนิกรชาวไทยอย่างมาก เนื่องจากทรงมีพระราชกรณียกิจที่ช่วยพัฒนาประเทศไทยให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เจริญขึ้น และพัฒนาขึ้นอย่างมากมาย
8. องค์กร UNESCO หรือองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศยกย่องรัชกาลที่ 5 ในฐานะบุคคลสำคัญของโลกด้านการศึกษา วัฒนธรรม สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ การพัฒนาสังคม เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2546 จึงถือได้ว่าพระองค์คือสมเด็จพระปิยมหาราชโดยแท้จริง
9. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2411 หลังจากที่รัชกาลที่ 4 สวรรคตด้วยอาการไข้ป่าในวันเดียวกัน ขณะนั้นพระองค์มีอายุครบ 15 ปีไม่กี่วัน จึงมีแต่งตั้งให้ สมเด็จเจ้าพระยามหาศรีสุริยวงค์ (ช่วง บุนนาค) ขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก่อน
10. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังได้ร่ำเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทำให้การเสด็จต่างประเทศของพระองค์เป็นไปอย่างราบรื่น โดยพระองค์เคยเสด็จประพาสยุโรปถึง 2 ครั้ง รวมถึงประเทศสิงคโปร์ ชวา พม่า และอินเดีย
ระหว่างการเดินทางไปยุโรป รัชกาลที่ 5 ได้เขียนจดหมายพูดคุยกับลูกสาว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี และได้ตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือรวมจดหมายชื่อ ไกลบ้าน ซึ่งหลายคนน่าจะรู้จักหรือเคยได้อ่านกันมาแล้ว
11. รัชกาลที่ 5 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับแผ่นดินไทยครั้งใหญ่ด้วยการประกาศเลิกระบบไพร่ทาส เมื่อปี พ.ศ. 2417 ซึ่งการเลิกทาสในแผ่นดินไทยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เกิดเหตุนองเลือดหรือจลาจล จากการประกาศเลิกทาสในครั้งนั้น
12. นอกจากการเลิกทาสแล้ว ประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังมีสาธารณูปโภคและบริการสาธารณสุขเป็นครั้งแรกอีกด้วย เช่น ไฟฟ้า ประปา โรงพยาบาลวังหลังหรือศิริราชพยาบาล สภาอุณาโลมแดง เป็นต้น
13. รัชกาลที่ 5 ยังทรงมีการปฏิรูประบบราชการไทยในรัชสมัยของพระองค์ด้วย โดยมีการยกเลิกระบบจตุสดมภ์ และเพิ่มหน่วยงานราชการเป็น 12 กระทรวงในปี พ.ศ. 2435 ได้แก่ มหาดไทย, กลาโหม, การต่างประเทศ, พระคลังมหาสมบัติ, มุรธาธร, นครบาล, โยธาธิการ, ธรรมการ, กระเษตรพานิชการ, ยุติธรรม, วัง และกรมยุทธนาธิการ
14. รัชกาลที่ 5 ยังเป็นกษัตริย์พระองค์แรกที่ยกเลิกการหมอบคลานเข้าเฝ้า เปลี่ยนให้นั่งเก้าอี้หรือยืนแทน รวมถึงการแต่งตัว การโกนผมเพื่อไว้ทุกข์ โดยพระองค์นำแบบแผนมาจากประเทศต่าง ๆ ที่พระองค์ไปเสด็จไปประพาสนั่นเอง
15. ด้านกาพย์ กลอน และวรรณคดีในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ยังคงรุ่งเรืองไม่น้อยลงไป พระองค์มีผลงานพระราชนิพนธ์หลายเรื่อง เช่น บทละครเรื่องเงาะป่า พระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ลิลิตนิทราชาคริต ฯลฯ
16. เหตุที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวปรับปรุงและพัฒนาประเทศ เป็นเพราะประเทศไทย หรือ สยาม กำลังเจอการคุกคามจากจักรวรรดิตะวันตก ซึ่งทำให้ไทยเสียดินแดนในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึง 4 ครั้ง
17. เมื่อถึงวันที่ 23 ตุลาคมจะมีกิจกรรมวันปิยมหาราช เพื่อน้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 5 โดยหน่วยงานราชการ ประชาชน จะพากันไปวางดอกไม้ พวงมาลาที่ลานพระบรมรูปทรงม้า พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร
18. พระบรมรูปทรงม้าสร้างขึ้นจากเงินที่ประชาชนร่วมกันบริจาคสมทบทุน ส่วนเงินที่เหลือจากการสร้างอนุสาวรีย์นี้ รัชกาลที่ 6 ทรงนำไปสร้างมหาวิทยาลัย จนกลายเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อมา
19. รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จไปทำพิธีเปิดในวันอัญเชิญพระบรมรูปทรงม้าขึ้นประดิษฐานบนแท่นหน้าพระราชวังดุสิตด้วยพระองค์เอง
20. พระบรมรูปทรงม้า สร้างขึ้นในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยนำแบบมาจากพระบรมรูปของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
21. สิ่งของที่ผู้คนมักจะนำมาสักการะพระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ได้แก่ ดอกกุหลาบสีชมพู หมากพลู บุหรี่ เหล้า ไวน์ เป็นต้น
22. ว่ากันว่าอาหารที่รัชกาลที่ 5 โปรดมากที่สุดก็คือ กะปิและปลาทู
23. พระราชกรณียกิจมากมายที่สมเด็จพระปิยมหาราชได้ทรงสร้างไว้ให้ลูกหลานชาวไทย จึงทำให้วันปิยมหาราชกลายเป็นวันสำคัญที่ควรระลึกถึงมากอีกวันหนึ่ง ในฐานะที่เราเกิดมาเป็นคนไทยใต้ร่มพระบารมี.
ขอบคุณข้อมูลจาก : 1 2 3 4 5 6.
สนใจลงโฆษณา บทความ Backlink กับ Thaiger ติดต่อคุณโอ๋ orakarn@thethaiger.com