สนค.เผย เงินเฟ้อไทย เดือน สิงหาคม 2565 พุ่งแตะ 7.86% จับสัญญาณเงินเฟ้อค่าเฉลี่ยร้อยละ 7 ติดต่อกัน 3 เดือน พาณิชย์คาดถึงจุดสูงสุดแล้ว ขณะที่ 7 เดือนเงินเฟ้อสูงขึ้น 6.14 %
วันที่ 5 กันยายน 2565 นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยหรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนส.ค. 2565 เท่ากับ 107.46 ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมาซึ่งเท่ากับ 107.41 โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาฯ เพิ่มขึ้นเพียง 0.05 %
- พุ่งเบรกแตก เงินเฟ้อ มิ.ย.65 พุ่ง 7.66% สูงสุดในรอบ 13 ปี แต่อาจพีกได้อีก.
- ทำไม ค่าเงินบาทอ่อนถึง 36 บาทต่อดอลลาร์ สาเหตุเงินบาทอ่อนค่าท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อ.
- เฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เดือน ก.ค. ปรับอีก 0.50 – 0.75% สูงสุดในรอบ 28 ปี หวังดักเงินเฟ้อ.
และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ อัตราเงินเฟ้อ ของเดือนสิงหาคม 2565 อยู่ที่ 7.86 % ซึ่งขยายตัวใกล้เคียงกับเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งสูงขึ้น 7.61% และคาดว่าเงินเฟ้อของไทยน่าจะถึงจุดสูงสุดแล้ว เหตุผลเนื่องจากในช่วงระยะ 3 เดือนที่ผ่านมา การขึ้นของเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ขณะที่ภาพรวมเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.- ส.ค.) ปี 2565 สูงขึ้น 6.14 %
ปัจจัยสำคัญยังคงเป็นราคาพลังงานที่เติบโตถึง 30.50 % แม้ราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์จะปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า แต่ราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนการขนส่งและต้นทุนการผลิตที่สำคัญยังคงสูงขึ้น รวมทั้งค่าบริการ อาทิ ค่าโดยสารสาธารณะ และค่าการศึกษาที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้สินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 6.83%
สำหรับสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เติบโต 9.35% โดยเฉพาะผักสด พริกสด ต้นหอม ผักคะน้า ราคาปรับสูงขึ้นเนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในหลายจังหวัด รวมทั้ง เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และอาหารสำเร็จรูป ราคาปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง
นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น และฐานดัชนีราคาฯ ที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อในเดือนเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างต่ำ ถือเป็นการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในทางเทคนิคสำหรับเงินเฟ้อในเดือนนี้
ทั้งนี้คาดว่าเงินเฟ้อในเดือนกันยายนน่าจะปรับตัวลดลง ถ้าสถานการณ์ความตึงเครียดภายนอกต่างๆไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ไม่รุนแรง และค่าเงินปรับขึ้นแค่ไหนซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาอัตราเงินเฟ้อของไทย
ปัจจัยหลักมาจากประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกลับมาดำเนินการได้เป็นปกติ ภาคการส่งออกสินค้าและภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับลดลง อย่างไรก็ตาม ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผันผวน และมาตรการของภาครัฐซึ่งมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ ยังคงเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค
ขอบคุณข้อมูล moc.go.th