รีวิว The Sea Beast (อสูรทะเล) แอนิเมชันจากผู้กำกับมือทอง ในท่วงทำนองที่เราคุ้นเคย
รีวิว The Sea Beast (อสูรทะเล) แบบไม่สปอยล์ แอนิเมชันเรื่องล่าสุดจากทางสตรีมมิ่งชื่อดังอย่าง Netflix ที่กำลังมาแรงแซงหน้าแอนิเมชันจากค่ายใหญ่ ๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี กับการเล่าเรื่องราวแบบฉบับที่คนดูต้องร้องว้าวแม้จะมีกลิ่นอายไม่ต่างจากแอนิเมชันเรื่องดังเรื่องอื่น ๆ ก็ตาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง The Sea Beast (อสูรทะเล) ที่ได้เครดิตจากผู้กำกับมือดีอย่าง Chris Williams (Bolt 2008, Big Hero 6 2014 และ Moana 2016) ที่กระตุ้นความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ให้น่าดูมากขึ้นไปอีก ทำให้คนดูได้ร่วมลุ้นไปพร้อมกันว่าภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้จะ รุ่ง หรือ ร่วง กันแน่ แต่ที่รู้ ๆ The Sea Beast นั้นก็ได้เข้าไปอยู่ในความสนใจของผู้ชมทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
รีวิว The Sea Beast (อสูรทะเล) ความกลมกล่อมที่ซ่อนอยู่ในความไม่น่าสนใจ
เรื่องย่อ The Sea Beast (อสูรทะเล) ตำนานที่ถูกเล่าขานอย่างบิดเบี้ยว
เรื่องราวของตัวละครเด็กหญิงกำพร้าชื่อว่า Maisie ที่หลงใหลในการเป็นนักล่าอสูรทะเล เนื่องจากมี Jacob Holland ลูกเรือของกัปตัน Crow หนึ่งในนักล่าอสูรมือฉมังเป็นไอดอล โดยในวันหนึ่ง Maisie ได้แอบขึ้นเรือของเหล่านักล่าอสูรเพื่อหวังจะไปติดตามการล่า “เจ้าแดงคำราม” อสูรทะเลในตำนานที่ดุร้าย แต่เมื่อเรือเริ่มออกจากท่า เรื่องการผจญของเด็กหญิงกับชายหนุ่มนักล่าอสูรก็เริ่มต้นขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วเรื่องกลับพลิกผันไปในทางที่ไม่มีใครคาดถึง
The Sea Beast (อสูรทะเล) กับการเล่าเรื่องที่สนุกแบบเดิม ๆ
หากใครยังจำได้ดี ในช่วงปี 2010 ทางสตูดิโอผู้สร้างอย่างค่าย DreamWorks Animation ก็ได้ปล่อยภาพยนตร์แอนิเมชันสุดเท่เรื่อง How To Train You Dragon (อภินิหารไวกิ้งพิชิตมังกร) ออกมาให้ผู้ชมได้ลิ้มรสตำนานไวกิ้งกันอย่างสนุกสนาน จนกระทั่งในปี 2014 เรื่อง Cloudy with a Chance of Meatballs 2 (มหัศจรรย์ ของกินดิ้นได้) ก็กลับมาฉายโรงเรียกยอดคนดูได้อีกครั้งด้วยธีมเรื่องสุดกาวไม่ต่างจากภาคแรก โดยทั้ง 2 เรื่องที่กล่าวมาไม่มีความยึดโยงใด ๆ กับเรื่อง The Sea Beast (อสูรทะเล) เลยแม้แต่นิดเดียว ทั้งค่ายผู้สร้างและผู้กำกับ รวมไปถึงนักแสดงผู้ให้เสียงพากย์ในเรื่องด้วย
แต่เมื่อกล่าวมาถึงตรงนี้แล้ว อาจทำให้ใครหลายคนเริ่มย้อนกลับไปคิดถึงเนื้อเรื่องของ How To Train You Dragon (อภินิหารไวกิ้งพิชิตมังกร) และเรื่อง Cloudy with a Chance of Meatballs 2 (มหัศจรรย์ ของกินดิ้นได้) ว่าทั้ง 2 เรื่องนั้นเป็นแอนิเมชันที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไร ซึ่งธีมหลักของเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมด รวมถึงเรื่อง The Sea Beast (อสูรทะเล) ด้วยแล้ว
อาจกล่าวได้ว่าไม่มีการนำเสนอเรื่องราวที่แปลกใหม่หรือแตกต่างไปจากขนบเดิม ๆ อย่างที่แอนิเมชันหลาย ๆ เรื่องเคยทำมาก่อนเลย แต่ใช่ว่าการสร้างสรรค์ผลงานจากสูตรสำเร็จจะเป็นเรื่องที่แย่ หากเรื่องราวเหล่านั้นถูกเล่าและถ่ายทอดออกมาได้อย่างดีเยี่ยม และ The Sea Beast (อสูรทะเล) ก็ทำออกมาได้ดีอย่างที่โปรโมตไว้ในตัวอย่าง โดยการนำพาผู้ชมเข้าถึงแก่นหลักของภาพยนตร์อย่าง “ความเข้าใจผิด” ได้อย่างถ่องแท้ แต่อาจจะมี Mood And Tone ของเรื่องที่เอนเอียงไปทาง How To Train You Dragon (อภินิหารไวกิ้งพิชิตมังกร) เสียมากกว่า เนื่องจากเป็นการเล่าเรื่องด้วยคีย์เวิร์ดหลักอย่างคำว่า “ตำนาน” ผสมผสานอยู่ด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น บทพูดที่ถูกทีมงาน Netflix แปลไทยมาแล้วอย่างดี ก็ยังบาดลึกกินใจคนไทยบางส่วน (ใหญ่) ไม่ต่างอะไรกับ Don’t Look Up (ดาวหางดับโลก) ที่มีไดอะล็อกจี้ปมคนในประเทศโลกที่ 3 ได้อย่างเฉียบขาด ทำให้เรื่อง The Sea Beast (อสูรทะเล) นั้นสามารถเข้าไปครองที่นั่งในใจคนดูได้ไม่ยาก อีกทั้งยังได้รับคะแนนบวกจาก Rotten Tomatoes ไปได้สูงถึง 94% เรียกว่าเป็นแอนิเมชันธรรมดาที่ไม่ธรรมดาเลยจริง ๆ
และทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดเห็นเล็ก ๆ หลังจากที่รับชมภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง The Sea Beast (อสูรทะเล) จบลง แม้จะเป็นการเล่าเรื่องแบบสูตรสำเร็จแต่กลับไม่น่าเบื่ออย่างที่คิด อีกทั้งบทพูดที่ดูจะตลกร้ายกับคนไทยไปหน่อยก็เป็นเหมือนกิมมิคเล็ก ๆ ที่ทำให้เรื่องนี้น่าดูยิ่งขึ้นไปอีก หากวันหยุดนี้ใครยังไม่มีแพลนที่จะทำอะไรสามารถรับชมเรื่อง The Sea Beast (อสูรทะเล) พากย์ไทยเต็มเรื่องผ่าน Netflix ก็เป็นแพลนที่ไม่แย่สักเท่าไร รับรองว่าดูแล้วจะไม่รู้สึกเสียดายเวลาแน่นอน