ข่าวข่าวการเมือง

iLaw อธิบาย ป้ายหาเสียงรีไซเคิล ของ ชัชชาติ ไม่ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

iLaw ออกโรงอธิบาย ป้ายหาเสียงรีไซเคิล ของ ชัชชาติ ไม่ถือเป็นการผิดกฎหมายเลือกตั้ง หลัง ศรีสุวรรณ ยื่นฟ้อง กกต.

iLaw เพจกฎหมายดังได้ออกมาโพสต์ข้อความเฟซบุ๊ก หลังจากที่นาย ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางไปยัง กกต. เพื่อขอให้ไต่สวนสอบสวน “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” กรณีทำป้ายหาเสียงเป็นผ้าไวนิลมีเจตนาแฝงเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อทำ “กระเป๋า-ผ้ากันเปื้อน”

อันเป็นการกระทำเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการ จัดทำให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 65 (1)

ซึ่งทางเพจได้ระบุไขข้อข้องใจว่า ตามบทบัญญัติ มาตรา 65 (1) ของ พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ระบุว่า

“มาตรา 65 ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไป ลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้

(1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือ ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด”

ถ้านำบทบัญญัติดังกล่าวมาเทียบเคียงกับกรณีการทำป้ายหาเสียงของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะพบว่า การทำป้ายดังกล่าวไม่มีเจตนาจัดทำป้ายเพื่อมาแจกจ่ายผู้ใดอันเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้กับตัวเอง และชัชชาติได้ชี้แจงในทวิตเตอร์ส่วนตัว เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2565 ว่า ทีมงานออกแบบป้ายหาเสียงรีไซเคิลได้ เพราะไม่อยากให้กลายเป็นขยะหลังการเลือกตั้ง และจะไว้ใช้กันต่อกันเองในทีม

ดังนั้น ลำพังแค่การออกแบบป้ายหาเสียงให้สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ จึงไม่เพียงพอต่อการบอกว่าเป็นการจัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือ ผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ลงคะแนนให้แก่ตนเอง

ส่วนกรณีที่มีการกล่าวอ้างว่า หลังจากปิดหีบเลือกตั้งแล้ว ก็จะมีชาวบ้านหรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งในพื้นที่เขตต่างๆ จะออกมาเก็บป้ายหาเสียงของผู้สมัครไปเป็นของตนแทบทั้งสิ้น ก็ไม่ได้เข้าข่ายตามองค์ประกอบความผิด เพราะไม่ได้จัดทำ หรือ จัดเตรียมป้ายหาเสียงเพื่อจะแจกจ่าย หรือมีการสัญญาว่าจะให้กับผู้ใดเพื่อจูงใจอย่างเฉพาะเจาะจง การที่มีคนเก็บป้ายไปเป็นของตน จึงไม่ได้เกิดจากตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้จัดทำหรือมอบให้กับประชาชน

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button