ข่าวข่าวภูมิภาคไลฟ์สไตล์

ชวนมารู้จัก วันออมสินของไทย 1 เมษายน จากคลังออมสิน สู่ธนาคารออมสิน

วันนี้ The Thaiger พามาทำความรู้จัก “วันออมสินของไทย 1 เมษายน” ซึ่งวันนี้มีขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รำลึกถึงการก่อตั้งธนาคารออมสิน และการริเริ่มแนวคิดออมเงินในประเทศไทย

โดยในทุก ๆ ปีหากเด็กและเยาวชนคนไหนทำการฝากเงินกับธนาคารออมสินตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ก็จะได้รับของขวัญจากธนาคารออมสิน ทั้งนี้เพื่อเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการออมให้แก่เด็ก ๆ และเยาวชนของประเทศชาติ

Advertisements

ประวัติ วันออมสินของไทย 1 เมษายน วันที่ประชาชนรู้จักคำว่า ‘เก็บออม’

1 เม.ย. วันออมสินของไทย กับแนวคิดให้คนไทยรักการออมเงิน

ธนาคารออมสิน ถือกำเนิดโดยพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของการเก็บรักษาทรัพย์ให้ปลอดภัยจากโจรผู้ร้าย โดยทรงตราพระราชบัญญัติจัดตั้งคลังออมสินขึ้น เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456

ด้วยพระราชปณิธานที่จะให้คลังออมสินเป็นที่เก็บรักษาทรัพย์สินอย่างปลอดภัย และฝึกฝนให้ราษฎรรู้จักเก็บออมทรัพย์อย่างถูกวิธี โดยเริ่มแรกพระองค์ทรงริเริ่มจัดตั้งคลังออมสินทดลองขึ้น โดยทรงพระราชทานนามแบงก์ว่า “ลีฟอเทีย” ในปี พ.ศ. 2450 เพื่อทรงใช้ศึกษาและสำรวจนิสัยคนไทยในการออมเบื้องต้น พระองค์ทรงเข้าใจในราษฎรของพระองค์และทรงทราบดีว่าควรใช้กุศโลบายใดอันจะจูงใจคนไทยให้มองเห็นความสำคัญของการออม

Advertisements

คลังออมสิน

ธนาคารออมสินจัดตั้งขึ้นในรัชกาลใด

ยุคที่ 1 กำเนิดธนาคารออมสิน (พ.ศ. 2456-2471)

เพื่อให้คลังออมสินได้เป็นประโยชน์เกื้อกูลเผื่อแผ่ไปถึงราษฎรโดยทั่วกัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 จึงได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการจัดตั้ง “คลังออมสิน” ขึ้นในสังกัด กรมพระคลังมหาสมบัติ กระทรวงพระคลัง มหาสมบัติ และพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกาศใช้ “พระราชบัญญัติคลังออมสิน พ.ศ. 2456” ประกาศใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2456

ยุคที่ 2 การแผ่ขยายของกิจการคลังออมสิน (พ.ศ. 2472-2497)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระราชดำริเห็นควร โอนกิจการคลังออมสินให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของกรมไปรษณีย์โทรเลข หลังจากนั้นกิจการคลังออมสินก็ได้เริ่มแพร่หลาย และเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งนับได้ว่ากิจการคลังออมสินในช่วงระยะนี้เติบโตขึ้นมาก จึงเรียกได้ว่าเป็น “ยุคแห่งความก้าวหน้าของการคลังออมสินแห่งประเทศไทย”

ยุคที่ 3 ยุคทองและการเปลี่ยนผ่านของธนาคารออมสิน (พ.ศ. 2490-ปัจจุบัน)

ต่อมาภายหลังเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง คณะรัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ ได้เห็นถึงคุณประโยชน์ของการออมทรัพย์ และความสำคัญของคลังออมสินที่มีต่อการพัฒนาประเทศ จึงได้ยกฐานะของคลังออมสินขึ้นเป็น “องค์การของรัฐ” มีฐานะเป็นนิติบุคคล

ดำเนินธุรกิจภายใต้ “พระราชบัญญัติธนาคารออมสิน พ.ศ. 2489” มีการบริหารงานโดยอิสระ ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เริ่มดำเนินธุรกิจในรูปธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2490 และคำว่า “คลังออมสิน” ก็ได้เปลี่ยนเป็นคำว่า “ธนาคารออมสิน” นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

ซึ่งในทุกวันนี้ทางธนาคารออมสินก็ได้ออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้ประชาชนมีนิสัยรักการออมตั้งแต่เด็ก ๆ และเมื่อกล่าวถึงธนาคารออมสิน เราก็มักจะนึกภาพกระปุกหมูออมสินสำหรับเด็ก นั่นก็เพราะรากฐานสำคัญของการออมเงิน ต้องเริ่มต้นตั้งแต่ยังเล็ก

ธนาคารออมสิน

 

อ้างอิง : 1


Lalita C.

นักเขียนคอนเทนต์ SEO แห่งทีมไทยเกอร์ไทย คลุกคลีกับการเขียนตั้งแต่สมัยเรียน ชอบการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ติดตามข่าวสารจากโลกออนไลน์ นำมาสรุป เล่าเรื่องให้เข้าใจง่าย ผ่านมุมมองน่าสนใจที่คนมักจะมองข้าม ทั้งข่าวบันเทิง บทความ งานเขียนแนวไลฟ์สไตล์ รวมถึงทุกอย่างที่อยากให้นักอ่านได้รู้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button