ประวัติ แอ๊ด คาราบาว สุดยอดศิลปิน ผู้อยู่จุดสูงสุดของเพลงเพื่อชีวิต

ย้อน ประวัติ แอ๊ด คาราบาว ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ทุกคนก็มักจะเคยได้ยินชื่อ แอ๊ด คาราบาว กันอยู่บ่อย ๆ อย่างแน่นอน เจ้าพ่อเพลงเพื่อชีวิต หัวหน้าวงคาราบาว ที่สร้างเพลงในตำนานไว้มากมายอย่าง บัวลอย, บางระจัน และเพลงดัง ๆ อีกมากมาย และล่าสุดน้าแอ๊ด ก็ได้สร้างกระแสฮือฮากันอีกครั้ง กับการจับกีต้าร์ขึ้นป่าวประกาศ เราจะอดตายกันหมดแล้ว ผ่านเพลง ‘ปล่อยวางโควิด’ เกิดเป็นตำนานบทใหม่
และในวันนี้เอง The Thaiger ก็จะพาทุกท่านย้อนกลับไปพบกับตำนานประวัติ แอ๊ด คาราบาว ตำนานไม่มีวันตาย กับเพลงเพื่อชีวิตที่อยู่มาทุกยุค ศิลปินขวัญใจคนไทยทั้งประเทศ สู่การเป็นเจ้าของธุรกิจที่ทำรายได้มากกว่าหลายร้อยล้านต่อปี

เล่าย้อน ประวัติ แอ๊ด คาราบาว ศิลปินเพื่อชีวิต เจ้าของเพลงฮิต บัวลอย
แอ๊ด คาราบาว หรือ นายยืนยง โอภากุล เกิดเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497 ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรชายฝาแฝดคนสุดท้องของ นายมนัส โอภากุล (แซ่โอ๊ว) และนางจงจินต์ แซ่อึ๊ง พ่อของ แอ๊ด เป็นหัวหน้าวงดนตรีประจำจังหวัดสุพรรณบุรีชื่อวงดนตรี ชสพ. เมื่อปี พ.ศ. 2480 เป็นจุดเริ่มต้นของความรักในเสียงเพลงของแอ๊ด
ในช่วงชั้นประถม แอ๊ด ได้เข้าเรียนโรงเรียนวัดสุวรรณภูมิ จากนั้นได้เข้าศึกษาโรงเรียนกรรณสูตศึกษาลัย ในชั้นมัธยม หลังจากจบการศึกษา แอ๊ด ได้เดินทางเข้าสู่กรุงเทพฯ โดยขอติดมากับรถขนส่งไปรษณีย์ เข้าเรียนต่อใน สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตอุเทนถวาย (ชื่อเดิม : โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย) และต่อในระดับปริญญาตรี สาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ที่สถาบันเทคโนโลยีมาปัว ประเทศฟิลิปปินส์ และกลับมาเมืองไทย ได้ทำงานประจำเป็นสถาปนิกในสำนักงานเอกชนแห่งหนึ่ง

ประวัติ แอ๊ด คาราบาว กับการก้าวเข้าสู่วงการเพลง
แอ๊ด นั้นมีใจรักในเสียงเพลงมาตั้งแต่วัยเด็ก ชอบการละเล่นพื้นบ้านของภาคกลาง เช่น ลำตัด, เพลงฉ่อย, เพลงอีแซว จากการที่พ่อ คือ นายมนัส เป็นหัวหน้าวงดนตรีประจำจังหวัดสุพรรณบุรี ชื่อวงดนตรี ชสพ. เมื่อปี พ.ศ. 2480 ต่อมาเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นได้รับอิทธิพลจากดนตรีแนวตะวันตกจึงหันมาเล่นเครื่องดนตรีตะวันตกต่าง ๆ เช่น กีตาร์
ในคณะที่กำลังศึกษาอยู่ ประเทศฟิลิปปินส์ แอ๊ดได้พบกับเพื่อนคนไทยที่ไปเรียนหนังสือที่นั้น คือ ไข่ สานิตย์ ลิ่มศิลา และเขียว กีรติ พรหมสาขา ณ สกลนคร ซึ่ง แอ๊ด ได้มีโอกาสฟังเพลงของ เลด เซพเพลิน, จอห์น เดนเวอร์, ดิ อีเกิ้ลส์ และปีเตอร์ แฟลมตัน ทั้ง 3 จึงร่วมกันตั้งวงดนตรีขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า คาราบาว เพื่อใช้ในการแสดงบนเวทีในงานของสถาบัน
ในเวลาต่อมา ไข่ จึงได้ขอลาออกจากวงและแยกตัวออกไปทำงานรับเหมาก่อสร้าง เหลือเพียงแอ๊ดและเขียวที่ยังคงเล่นดนตรีต่อไป โดยเล่นร่วมกับโฮป แฟมิลี่ โดยทั้งคู่จะเล่นดนตรีในตอนกลางคืน โดยเล่นประจำที่ดิกเก็นผับ ในโรงแรมแอมบาสเดอร์ สุขุมวิท
แอ๊ด คาราบาว เริ่มเข้าวงการและเริ่มมีชื่อเสียงจากการ รับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์อัลบั้มชุดแรกให้กับวงแฮมเมอร์ ในปี พ.ศ. 2522 ในชุด บินหลา ทำให้แฮมเมอร์เป็นที่รู้จักในวงการเพลง และกลับมาร่วมงานกันอีกครั้งในอัลบั้ม ปักษ์ใต้บ้านเรา ซึ่งทำให้แฮมเมอร์โด่งดังอย่างมาก และได้ร่วมแต่งเพลงประกอบภาพยนตร์ของพนม นพพร ในเรื่องหมามุ่ย ในปี พ.ศ. 2524

จุดพลิกผัน แอ๊ด คาราบาว สู่เจ้าพ่อแห่งวงการเพลงเพื่อชีวิต
ในปี พ.ศ. 2524 แอ๊ด คาราบาว ได้ร่วมกับเขียว ออกอัลบั้มของตัวเองครั้งแรกในชื่อชุด ขี้เมา แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ปีถัดมา คาราบาว ได้สมาชิกใหม่เพิ่มอีก 1 คน คือเล็ก ปรีชา ชนะภัย มือกีตาร์จากวง เพรสซิเดนท์ หรือที่รู้จักกันในเวลาต่อมาคือ เล็ก คาราบาวนั่นเอง และได้ออกอัลบั้มอย่างต่อเนื่อง
หลังจากปล่อยอัลบั้มออกมาถึง 4 ชุด แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จจนมาในชุดที่ 5 คาราบาว ก็พบกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ เมด อิน ไทยแลนด์ ในปลายปี พ.ศ. 2527 ซึ่งมียอดจำหน่ายสูงถึง 5,000,000 ตลับ/ก๊อปปี้ เป็นสถิติที่สูงที่สุดในประเทศไทย และนับตั้งแต่นั้นชื่อของ แอ๊ด คาราบาว ก็เป็นที่รู้จักกันจนกลายมาเป็นตำนายดั่งเช่นทุกวันนี้

ชีวิตครอบครัวของแอ๊ด คาราบาว
แอ๊ด ได้สมรสกับ นางลินจง โอภากุล มีบุตร – ธิดาด้วยกัน 3 คน ผู้หญิง 2 คนคือ ณิชา โอภากุล และนัชชา โอภากุล และชาย 1 คน คือ ร้อยตำรวจเอก (ร.ต.อ.) วรมันต์ โอภากุล แอ๊ด มีพี่ชายฝาแฝด 1 คน เป็นศิลปินเพลงเพื่อชีวิตเหมือนกัน คือ อี๊ด ยิ่งยง โอภากุล เคยออกอัลบั้มร่วมกันในชื่อ พฤษภา เมื่อปี พ.ศ. 2535 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
จากศิลปิน สู่นักธุรกิจมูลค่าหลายร้อยล้าน คาราบาว
ปี พ.ศ. 2544 แอ๊ด ได้จับมือร่วมกับนักธุรกิจอย่างนายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ และนางสาวณัฐชไม ถนอมบูรณ์เจริญ จัดตั้งบริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจผลิต ทำการตลาดและจำหน่ายเครื่องดื่มบำรุงกำลัง โดยที่แอ๊ดถือหุ้นในบริษัทมากเป็นลำดับที่ 3 ด้วยจำนวน 70,480,000 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 7.05 จนกระทั่งนิตยสาร ฟอบส์ ฉบับภาษาไทย ได้ตั้งฉายาว่า เป็นนักดนตรีที่ร่ำรวยสุดในประเทศไทย (The Richest Musician)
ประกาศยุบวงคาราบาวในปี 2567
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 แอ๊ด คาราบาว ก็ได้ประกาศระหว่างขึ้นทำการแสดงบนเวทีว่าจะยุบวงคาราบาวช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2567 และจะจัดคอนเสิร์ตสุดท้ายในฐานะวงคาราบ วันที่ 1 เมษายน 2567 เป็นการปิดตำนานวงดนตรีเพื่อชีวิตที่ยังมีลมหายใจ และโลดแล่นในวงการมาได้กว่า 40 ปีอย่างสมบูรณ์แบบ