เดือนกุมภาพันธ์ขึ้นชื่อว่าเป็นเดือนแห่งความรัก และในวันที่ 3 กุมภานี้เอง ก็ทำให้เรารู้จักความรักในอีกรูปแบบหนึ่งผ่าน “ วันทหารผ่านศึก ” ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นวันแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่และสำคัญไม่แพ้วันวาเลนไทน์เลยทีเดียว
“ วันทหารผ่านศึก ” ทหารผู้ทำหน้าที่ทหารได้อย่างแท้จริง!
วันทหารผ่านศึก วันที่เราจะได้ระลึกถึงชายชาติทหารผู้ปกป้องอธิปไตยของชาติ
3 กุมพาพันธ์ 2565 เวียนมาบรรจบครบรอบ 74 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 ที่ได้มีการจัดตั้ง “องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก” หรือ The War Veterans Organization of Thailand เรียกย่อ ๆ ว่า “อผศ.” โดยมีสถานะเป็นองค์การของรัฐเพื่อการกุศล ให้การสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึกและครอบครัว รวมถึงผู้ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ในการรบ อีกทั้งยังเป็นการเชิดชูเกียรติแก่เหล่าทหารผ่านศึกผู้กล้าหาญ
ซึ่งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกนี้เอง จัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานถาวร ที่ได้รับการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาด้วย ทางรัฐบาลจึงประกาศให้วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันทหารผ่านศึก
ประวัติและความเป็นมา
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง บรรดาทหารไทยทั้งหลายที่เข้าร่วมรบในสงครามครั้งนี้ถูกปลดออกจากหน้าที่ จึงทำให้มีเสียงเรียกร้องถึงสวัสดิการที่ทหารผู้ผ่านศึกสงครามควรจะได้รับ ดังนั้นในปี พ.ศ. 2490 ทางกระทรวงกลาโหมจึงทำการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เหล่าบรรดาทหารที่กลับจากหน้าที่ปฏิบัติการรบ รวมถึงครอบครัวของทหารที่เสียชีวิตในศึกสงคราม แต่กระนั้นก็ยังไม่ถือว่าเป็นหน่วยงานที่เป็นทางการ
จนกระทั่งกระทรวงกลาโหมได้เสนอพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกขึ้น ซึ่งก็ผ่านมติเห็นชอบจากรัฐบาลและถูกบันทึกไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 ดังที่ได้เล่าไปแล้วข้างต้น
ภารกิจหลักขององค์การทหารผ่านศึก
องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกจะได้รับเงินอุดหนุนจากกระทรวงกลาโหม รวมถึงเงินที่ทางรัฐบาลได้แบ่งสันปันส่วนให้เป็นครั้งคราว โดยองค์การนี้มีภารกิจหลักในการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกอยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 ประการ ได้แก่
1. สงเคราะห์ทางด้านสวัสดิการ ในด้านทั่ว ๆ ไป เช่น ที่อยู่อาศัย การศึกษา หรืออวัยวะเทียม เป็นต้น
2. สงเคราะห์ด้านอาชีพ มีการจัดฝึกอบรมทางอาชีพให้แก่ทหารผ่านศึก รวมถึงการจัดหางานทั้งในและต่างประเทศให้ด้วย
3. สงเคราะห์ด้านนิคมเกษตรกรรม มีการจัดสรรที่ดินทำกิน และเครื่องไม้เครื่องมือ รวมถึงความรู้ด้านวิชาการทั้งการเกษตรให้แก่เหล่าทหารผ่านศึก
4. สงเคราะห์ด้านกองทุน มีการจัดกองทุนกู้ยืมสำหรับสมาชิกองค์การทหารผ่านศึก ให้ได้กู้ยืมไปประกอบอาชีพต่าง ๆ
5. สงเคราะห์ด้านการรักษาพยาบาล โดยสมาชิกองค์การทหารผ่านศึกสามารถรักษาพยาบาลได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
6. ส่งเสริมสิทธิ์ของทหารผ่านศึก เป็นการเรียกร้องสิทธิ์ของทหารผ่านศึกในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมให้แก่ทหารผ่านศึก เช่น การขอลดค่าโดยสารสาธารณะ เป็นต้น
‘ดอกป๊อปปี้’ ตัวแทนความรักชาติของเหล่าทหารหาญ
หลายคนอาจจะสงสัยว่า ทำไมวันทหารผ่านศึกถึงมีความเกี่ยวข้องกับ “ดอกป๊อปปี้” วันนี้ทาง The Thaiger มีคำตอบมาฝาก
นั่นก็เพราะดอกป๊อปปี้ในภาษาสากลนั้น สื่อถึงการหลั่งเลือดของเหล่าวีรบุรุษผู้กล้าในสนามรบ โดยสีแดงของดอกป๊อปปี้นี้เองที่เป็นตัวแทนของเลือดเหล่าทหารผู้อุทิศตนให้กับประเทศชาติ ซึ่งในสมรภูมิรบนั้นเราจะเห็นว่าเต็มไปด้วยกองเลือดของบรรดาทหารผู้กล้าเสียสละชีวิตตนเอง เปรียบได้ดั่งการที่ดอกป๊อปปี้สีแดงบานสะพรั่งเต็มไปทั่วพื้นที่
โดยกล่าวกันว่าการที่ดอกป๊อปปี้มาเป็นสัญลักษณ์ของวันทหารผ่านศึกได้นั้น เกิดจากปรากฏการณ์ที่ดอกป๊อปปี้บานกลางหลุมฝังทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 นอกจากนี้ในทางสากลยังถือเอาวันที่ 11 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันทหารผ่านศึกด้วย เพราะตรงกับวันลงนามสงบศึกระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรกับเยอรมนี
3 กุมภาพันธ์ วันระลึกถึงทหารผ่านศึก
สำหรับ วันทหารผ่านศึกในปี 2565 นี้เอง ทางองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกก็ได้มีการจัดงานเพื่อรำลึกถึงเหล่าทหารที่เสียสละชีวิตในการปกป้องชาติบ้านเมือง ในระหว่างวันที่ 27 มกราคม ถึง วันที่ 3 กุมภาพันธ์ ภายใต้ชื่องาน “เชิดชูเกียรติทหารกล้า 3 กุมภาพันธ์ วันทหารผ่านศึก”
โดยมี พลเอกสัณทัศน์ นันทิภาคย์หิรัญ ผู้อำนวยการองค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก เป็นประธานในพิธี โดยในวันที่ 3 กุมภาพันธ์นี้ ก็ได้มีการประกอบพิธีวางพวงมาลาเพื่อรำลึกถึงทหารผ่านศึกในทุกสมรภูมิ ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายว่า วันทหารผ่านศึก ที่สำคัญเช่นนี้ ที่ให้เราได้ระลึกถึงการเสียสละและหน้าที่ที่แท้จริงของทหารผู้กล้ากลับเป็นเพียงวันสำคัญที่คนไม่ค่อยให้ความสนใจมากเท่าวันอื่น ๆ อีกทั้งยังไม่ถูกจัดเป็นวันหยุดราชการอีกด้วย จึงเป็นที่ประจักษ์ว่าสิทธิและความเสมอภาคของบรรดาทหารกล้าผู้เสียสละที่แท้จริงยังไม่เป็นที่นึกถึงอย่างที่ควรจะเป็น
เรื่อง : โมทนา ม่วงเตี้ย
บรรณาธิการ : ทศพล ถิรเจริญสกุล
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน The Thaiger ผ่าน