บันเทิงผู้ชายผู้หญิงภาพยนตร์ไลฟ์สไตล์

บท ใจผมสลายฮะมุง ชาวเดอร์ คือใคร ทำไมต้องพูดประโยคนี้

‘ บท ใจผมสลายฮะมุง ’ จากประโยคในฉากสั้น ๆ สู่วลียอดฮิตอันโด่งดังจนกลายเป็นกระแสไวรัลหลักบนโลกโซเชียล ของตัวละครในชื่อเรื่องเดียวกันว่า “ชาวเดอร์” (Chowder) ซึ่งปัจจุบันได้ออกอากาศเป็นภาษาไทยผ่านช่อง Boomerang Thailand

เรียกว่าพัฒนาจนกลายเป็นมีม ที่มีผู้นำไปสร้างเป็นคอนเทนต์ต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นรวมเพลงเศร้า หนังรักอกหัก หรือคุยลึกเรื่องประเด็นของความเจ็บปวด ฯลฯ โดยไม่ลืมที่จะยิบหยกประโยค “ใจผมสลายฮะมุง” ออกมาเกริ่นก่อน แม้ว่าจะโด่งดังเพียงชั่วข้ามคืน

ซึ่งในบทความนี้ทีมงาน The Thaiger Thailand จะชวนเพื่อน ๆ ไปทำความรู้จักกับเจ้าแรคคูนสีม่วง ปุกปุยน่ากอด พร้อมกับติดตามเรื่องราววุ่น ๆ สารพัดเครื่องครัว และวิถีชาวกุ๊ก ว่านอกจากจะมีคำคมบาดใจแตกสลายแล้ว ยังมีอะไรที่น่าสนใจเกี่ยว ชาวเดอร์ อีกบ้าง ถ้าพร้อมแล้วก็เตรียมตั้งตาอ่านต่อกันได้เลยยย ?

บท ใจผมสลายฮะมุง มาจากไหน ?

นี่ไม่ใช่คติสอนใจ หรือถ้อยคำปลุกระดมแต่อย่างใด หากแต่เป็นประโยคจากตัวละคร าวเดอร์ (Chowder) EP.20 ตอน เธอเป็นแฟนของชาวเดอร์? ซึ่งชาวเดอร์ได้กล่าวความรู้สึกต่อ กัซปาโช่ (Gazpacho) อีกหนึ่งตัวละครซึ่งมีอาชีพเป็นพ่อค้าขายผักสดในตลาด ที่ได้เข้าใจผิดคิดว่าทั้ง มุง และ ชาวเดอร์ ต้องการจะหลอกตนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือ จึงได้ทำการ ‘แบน’ ทุกสิ่งอย่าง จนกระทั่งต้องออกไปขายของข้างทาง เพราะเผลอแบนตัวเองไปด้วย ? เมื่อชาวเดอร์เห็นดังนั้น จึงได้มีคำพูดกล่าวออกมาว่า

 

บท ใจผมสลายฮะมุง ชาวเดอร์
ภาพจาก : Chowder Thailand (ชาวเดอร์ พากย์ไทย)

 

“… ใจผมสลายฮะมุง หัวใจผมแตกสลายออกเป็นล้าน ๆ ชิ้นเลย แล้วแต่ละชิ้นก็แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ แล้วในที่สุดใจที่แตกออกเป็นเสี่ยง ๆ ก็ถูกบดละเอียดจนเป็นผุยผงหมดเลยอะ ตอนนี้หัวใจผมได้กลายเป็นก้อนฝุ่นไปแล้วล่ะฮะ …”

เรียกว่าน้องบรรยายความรู้สึกออกมาได้ยิ่งกว่าเห็นภาพ แต่เข้าถึงความรู้สึกของหัวใจที่เจ็บปวดจนแตกสลายได้อย่างถึงแก่นกันเลยทีเดียว แม้ว่านี่จะเป็นการ์ตูนน่ารักทั่ว ๆ ไป ทว่าเมื่อผู้ใหญ่อย่างเราได้มาฟัง บางครั้งมันก็แอบเจ็บจี๊ดไปจนถึงก้นบึ้ง หรือไปสะกิดต่อมความเศร้าจากเศษเสี้ยวความทรงจำเลยล่ะฮะ ?

 

ชาวเดอร์กับเรื่องราวก่อน บท ใจผมสลายฮะมุง ’

อยากเพิ่งหัวใจแตกสลายกัน เพราะการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ได้เศร้าโศกเหมือนดั่งประโยคข้างต้น แต่ว่าด้วยเส้นทางการเป็นกุ๊กฝึกหัด กับอีกสารพัดปัญหาเรื่องวุ่น ๆ ของ ชาวเดอร์ (Chowder) ที่ได้มาฝากฝังฝึกวิชา อยู่ภายในภัตตาคารดังของพ่อครัวมากประสบการณ์อย่าง มุง (Mung Daal) พร้อมสมาชิกอีกสองคนทั้ง ทรัฟเฟิล (Truffles) ภรรยาของมุง ผู้ทำหน้าที่รับลูกค้าและเก็บเงิน กับ ชนิทเซล (Shnitzel) ผู้ช่วยกุ๊กที่พูดได้แค่ …บลา บลา บลา… แต่ทุกคนในเรื่อง (ยกเว้นคนดู) กลับเข้าใจ

ชาวเดอร์ แค่ชื่อก็ดูน่ากินแว้วว

ชาวเดอร์ มีต้นแบบมาจากอะไร และชื่อสุดคุ้นหูนี้มาจากไหนกัน เชื่อว่าแฟน ๆ การ์ตูนเรื่องนี้หลายท่าน ต้องเคยสงสัยกันมาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งความหมายที่แท้จริงของ ชาวเดอร์ (Chowder) คือชื่อเมนูซุปข้นชนิดพิเศษ โดยตัวละครนี้เป็น แรคคูนสีฟ้า เอ้ยนั่นมันโดราเอมอน ? ต้องเป็น แรคคูนสีม่วง เพศชาย อายุระหว่าง 10-13 ปี แต่ก็มีบางคนวิเคราะห์ว่าน่าจะเป็นสัตว์สมมติ ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่าง แมว หมี และกระต่าย นั่นเอง อีกทั้งยังมีลักษณะนิสัยเด่น ๆ ที่เราเห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็น เป็นคนสมาธิสั้น กินได้ทุกอย่าง (ทุกอย่างจริง ๆ) และมีความฝันว่าสักวันจะได้เป็นกุ๊กทำอาหาร

นอกจากนี้ชื่อตัวละครต่าง ๆ ในเรื่องก็มาจากชื่อเมนูอาหารอีกด้วยนะอย่างเช่น มุง ดาล = ถั่วเขียว, ทรัฟเฟิล = เห็ดทรัฟเฟิล, ชนิทเซล = เนื้อทุบชุดเกล็ดขนมปังทอด, กัซปาโช = ซุปมะเขือเทศ ซึ่งก็ยังมีตัวละครพิเศษอื่น ๆ ที่ใช้ชื่อจากเมนูอาหารหรือวัตถุดิบในครัว เรียกว่าสมกับเป็นการ์ตูนเรื่องราวของกุ๊กจริง ๆ

ขุดคุ้ยกำเนิด ชาวเดอร์

ชาวเดอร์ (Chowder) คือซีรีส์การ์ตูนที่แต่งโดยคุณ C.H. GREENBLATT อดีตนักวาดสตอรี่บอร์ดจากเรื่อง ‘สปอนบ็อบสแควแพ้น’ และ ‘การผจญภัยของบิลลี่และแมนดี้’ (ใครที่เคยดูสองเรื่องนี้ อายุไม่น้อยกันแล้วนะครับ อิอิ) เผยแพร่ผ่านช่อง CARTOON NETWORK ระหว่างปี 2550 ถึง 2553 และปัจจุบันได้ฉายเวอร์ชันพากย์ไทย บนช่อง Boomerang Thailand

บท ใจผมสลายฮะมุงโผล่ในคอนเทนต์อะไรบ้าง

จากกระแสไวรัลบนโซเชียลเมื่อไม่นานมานี้ ก็สร้างปรากฏการณ์การเชื่อมโยงประโยค บท ใจผมสลายฮะมุง ไปสู่คอนเทนต์ต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลายทั้ง รวมคำคมจากชาวเดอร์, แนะนำหนังอกหักหัวใจสลาย, เพลยลิสต์เพลงเศร้า การวิเคราะห์อาการใจสลายโดยหยิบยกประโยค “ใจผมสลายฮะมุง” มาเป็นหัวข้อเนื้อหาคอนเทนต์ กระทั่งไปถึงการแต่งรีมิกซ์เป็นเพลงแร็ป ใจผมสลายฮะมุง จาก TIGERBOY Ft. THREETIME กันเลยทีเดียว

และล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2565 ก็ได้มีโพสต์กิจกรรมทายปริศนาผู้ให้เสียงพากย์ภาษาไทยตัวละคร ชาวเดอร์ (Chowder) ว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย โดยสามารถติดตามได้ผ่าน Boomerang Thailand Facebook (นี่ก็แอบอยากรู้เหมือนกันนะ)

แคปชั่น บท ใจผมสลายฮะมุง รวมทุกข์เรื่องคนใจแหลก

ฮิตกันขนาดนี้ต้องมีแคปชั่นกันแล้วป่ะ จริง ๆ เราสามารถปรับใช้กับมีมรูปภาพ หรือแคปชั่นตามโอกาสได้หลากหลายเลยนะครับ มาดูกันว่า ใจผมสลายฮะมุง มีเรื่องอะไรให้ใจสลายกันบ้าง

  • ใจผมสลายฮะ(มึง)มุง
  • เมื่อเห็นเธอกับเขา ใจผมสลายฮะมุง
  • คาดหวังกี่ครั้ง ใจผมก็สลายฮะมุง
  • วันหวยออกเมื่อไหร่ ใจผมสลายฮะมุง T_T
  • เปิดกระเป๋าตังค์ปลายเดือนทีไร ใจผมสลายฮะมุง
  • ไม่ต้องผสมน้ำทำละลาย ใจผมก็สลายฮะมุง
  • ใจผมสลายฮะมุง มุง มุง มึงอ่ะเห้ย!!
  • ใจผมสลายฮะมุง วันหยุดผมหมดแล้วอ่ะคับ
  • กระตุกจิต กระชากใจ (ผมสลายฮะมุง)
  • ใจผมสลาย เหมือนเงินเดือนที่หายไป (ฮะมุง)
  • เธอเลือนหายเหมือนใจผมที่สลายฮะมุง
  • ตั้งแต่วันที่เธอจากไป ใจผมก็สลายฮะมุง
  • ยืมไม้กวาดได้มั้ย เพราะใจผมสลายฮะมุง หัวใจผมแตกสลายเป็นล้าน ๆ ชิ้นเลย

ประโยคติดปากของชาวเดอร์ก่อนบท ใจผมสลายฮะมุง

ก่อนจะมาเป็นประโยค ใจผมสลายฮะมุง ปกติชาวเดอร์มักจะมีคำพูดติดปาก ที่เราได้ยินเกือบแทบทุกตอน โดยจะพูดเวลาที่ตัวละคร ปานินี่ (Panini) ปรากฏตัวคือ

“ … ฉันไม่ใช่แฟนเธอนะ … ”

( … I’M NOT YOUR BOYFRIEND! … )

 

ถ้าใครเป็นแฟนการ์ตูนเรื่องนี้ บอกเลยว่าจะได้ยินชาวเดอร์พูดประโยคนี้ค่อนข้างบ่อยกว่า “ใจผมสลายฮะมุง” อีกด้วยนะ

 


 

บท ใจผมสลายฮะมุง ที่นอกจากจะกลายเป็นไวรัลคอนเทนต์ที่โด่งดังบนโซเชียล สร้างเสียงหัวเราะและความเฮฮาได้แบบเกินคาด แต่บางครั้งภายใตสีสันตัวการ์ตูนที่สดใสเต็มไปด้วยรอยยิ้ม มันก็แฝงตลกร้ายของชีวิตไว้ได้อย่างแนบเนียน ดังนั้น ประโยคที่ชาวเดอร์กล่าวไป มันอาจเป็นความรู้สึกสงสารที่ออกมาจากก้นบึ้งของหัวใจ ต่อความทุกข์ของผู้อื่นก็เป็นได้นะครับ ?

อ้างอิงจาก : 1 2

Thosapol

นักเขียนบทความที่ Thaiger จบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชี่ยวชาญเรื่องบทความท่องเที่ยว บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ผ่านการค้นหาข้อมูลโดยละเอียดพร้อมด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง งานอดิเรกมีความสนใจในกระแสข่าวรอบตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพ สังคม การเมือง และที่สำคัญคือเป็นทาสแมวร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ ช่องทางติดต่อ thospol@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button