สุขภาพและการแพทย์

สธ. ผนึกกำลัง ‘แพทย์แผนไทย’ ทั่วประเทศ ดูแลผู้ป่วย โควิด-19 และผู้เคยติดเชื้อ

สธ. ผนึกกำลัง แพทย์แผนไทย ทั่วประเทศ ดูแลผู้ป่วย โควิด-19 และผู้ที่มีอาการหลังติดเชื้อ แนะยาฟ้าทะลายโจรและยาแผนไทยช่วยรักษาในผู้ป่วยกลุ่มที่อาการน้อยได้ผลดี

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย กระทรวงสาธารณสุขผนึกกำลังเครือข่ายด้านการแพทย์แผนไทยทั่วประเทศ จัดโครงการ “แพทย์แผนไทย สู้ภัย โควิด-19” นำองค์ความรู้แพทย์แผนไทย ยาแผนไทย สมุนไพร ดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ที่อยู่ในระบบ HI /CI และกลุ่มที่มีอาการหลังติดเชื้อ พร้อมแนะนำยาฟ้าทะลายโจรและยาแผนไทยเป็นทางเลือกช่วยรักษาผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการน้อยได้ผลดี

Advertisements
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ (กลาง) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ (ที่ 4 จากซ้าย) อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายด้านการแพทย์แผนไทย เปิดโครงการ “แพทย์แผนไทยสู้ภัยโควิด 19” เพื่อบูรณาการองค์ความรู้ศาสตร์การแพทย์ทุกแขนงเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

17 มกราคม 2565 – กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จังหวัดนนทบุรี – เมื่อเร็วๆนี้ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมการถ่ายทอดองค์ความรู้การดูแลผู้ป่วยอาการหลังติดเชื้อและได้รับผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด 19 ด้วยการแพทย์แผนไทย

โดยมี นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์การทางเลือก และเครือข่ายการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกอื่นๆ ร่วมประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และแถลงข่าว “แพทย์แผนไทยรวมพลังทั้งแผ่นดินสู้ภัยโควิด” ว่า

กระทรวงสาธารณสุขได้บูรณาการองค์ความรู้ศาสตร์การแพทย์ทุกแขนงเพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยปี 2565 ได้จัดสรรงบประมาณ 246 ล้านบาท ให้กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจัดหายาสมุนไพรเพื่อใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วประเทศ ภายใต้โครงการ “แพทย์แผนไทยสู้ภัยโควิด 19” สนับสนุนชุดยาสมุนไพรให้กับสถานบริการสาธารณสุขของรัฐที่มีการจัดบริการแพทย์แผนไทยทุกแห่งทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม 2565

สำหรับดูแลผู้ติดเชื้อระยะเริ่มต้นที่มีอาการเล็กน้อย (กลุ่มสีเขียว) ที่เข้าระบบ Home Isolation และ Community Isolation ที่มีกว่า 700,000 ราย รวมถึงกลุ่มผู้ป่วยด้วยอาการหลังติดเชื้อ Long COVID หรือภาวะ Post COVID-19 Syndrome อีกกว่า 400,000 ราย ให้สามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับเครือข่ายการแพทย์แผนไทยทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีประมาณ 2,000 คน จัดทำแนวทางการใช้ปฏิบัติเวชกรรมไทย การใช้ยาสมุนไพร ให้กับสถานบริการสาธารณสุขของรัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อร่วมดูแลผู้ป่วยที่อาการหลังติดเชื้อและได้รับผลกระทบระยะยาวจากโรคโควิด 19 รวมถึงจัดบริการออกหน่วยแพทย์แผนไทยเคลื่อนที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการดูแลเชิงรุก

Advertisements

ด้านนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 ปัจจุบัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งมีอาการไม่รุนแรง เข้าระบบดูแลรักษาแบบ Home Isolation และ Community Isolation

จากข้อมูลการรักษาที่ผ่านมาพบว่ายาฟ้าทะลายโจรสามารถรักษาผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มนี้ได้ผลดี กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกจะจ่ายยาฟ้าทะลายโจรเพื่อช่วยบรรเทาอาการ รวมถึงยาตรีผลา ชุดรมไอน้ำสมุนไพร และอื่นๆ

ส่วนกลุ่มผู้ป่วยด้วยอาการหลังติดเชื้อ Long COVID หรือภาวะ Post COVID-19 Syndrome ส่วนใหญ่มักมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ วิตกกังวล มีไข้ อ่อนล้า มึนงง วิงเวียน นอนไม่หลับ ท้องอืด ท้องเสีย หายใจไม่อิ่ม ซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและสภาพจิตใจในระยะยาว จะได้รับชุดยาไทย เช่น ยาฟ้าทะลายโจร ยาหอมนวโกฐ ยาห้าราก ยาประสะมะแว้ง ยาสหัสธารา เป็นต้น เพื่อบำบัดและบรรเทาอาการ

 

แหล่งที่มาของข่าว : กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

สามารถติดตามข่าวสุขภาพเพิ่มเติมได้ที่นี่ : ข่าวสุขภาพ

 

N. Siripariyasak

นักเขียนคอนเทนต์ จับประเด็นด้านเศรษฐกิจ-การเงิน, เทคโนโลยี, ไอที และเกมส์ อัปเดตข่าวทั้งจากในประเทศไทย และต่างประเทศ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button