ข่าวข่าวต่างประเทศ

สวิตเซอร์แลนด์ แชมป์ อันดับประเทศน่าอยู่ จากรายงานของ WCR

WCR ได้เผยแพร่รายงาน อันดับประเทศน่าอยู่ โดยในรอบนี้ยังคงเป็น สวิตเซอร์แลนด์ ที่ยังรั้งอันดับหนึ่งไว้ได้ ขณะที่ตัวแทนจากเอเชียมี ญี่ปุ่น และ สิงคโปร์

CS Global Partners บริษัทการตลาดและที่ปรึกษาของภาครัฐชั้นนำระดับโลก ได้เผยแพร่รายงาน World Citizenship Report (WCR) ที่หลายฝ่ายตั้งตารอคอย โดยมีการจัดทำดัชนี World Citizenship Index (WCI) เพื่อเปรียบเทียบความเป็นพลเมืองของประเทศต่าง ๆ จากมุมมองของพลเมืองทั่วโลก ด้วยการประเมิน 187 ประเทศและดินแดน ใน 5 ปัจจัยหลักที่กำหนดความเป็นพลเมืองของพลเมืองทั่วโลก

สำหรับ 5 ปัจจัยหลักที่มีการประเมินประกอบด้วย ความมั่นคงปลอดภัย คุณภาพชีวิต โอกาสทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการเดินทางทั่วโลก และอิสระทางการเงิน โดยพิจารณาจากข้อมูลสถิติอย่างเป็นทางการ ได้แก่ ผลวิจัยจากธนาคารข้อมูลชั้นนำ บทสัมภาษณ์ และผลสำรวจนักลงทุนผู้มั่งคั่งกว่า 500 ราย โดยรายงาน WCR ไม่ได้มองแค่ความแข็งแกร่งของพาสปอร์ตเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับปัจจัยอื่น ๆ ที่มีบทบาทในการเลือกขอสัญชาติที่สองด้วย

คุณ Micha Emmett ซีอีโอของ CS Global Partners กล่าวว่า รายงาน WCR มีความโดดเด่นเหนือรายงานอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม เพราะ “สำรวจประเทศที่มอบสิทธิประโยชน์สูงสุดให้แก่พลเมืองโลก โดยเฉพาะในยุคหลังโควิด ซึ่งบรรดาผู้ที่มีช่องทางต่างแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ และความมั่นคงปลอดภัยมากกว่าเดิม”

โดยเธอกล่าว “เราต้องการนำเสนอสิ่งที่ได้รับความสนใจและส่งผลต่อพลเมืองโลกอย่างแท้จริง เมื่อมีทางเลือกในการขอสัญชาติที่สองหรือสาม คำถามแรกที่เกิดขึ้นในใจของผู้มีความมั่งคั่งคือ เราควรเลือกที่ไหนดี”

“ผู้มีความมั่งคั่งต้องพิจารณาปัจจัยมากมายก่อนตัดสินใจเรื่องสำคัญอย่างการขอสัญชาติที่สองและการลงหลักปักฐานในประเทศที่สอง แน่นอนว่าความแข็งแกร่งของพาสปอร์ตเป็นปัจจัยสำคัญ แต่ปัจจัยนี้ก็มีความผันผวนอย่างมากเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการจำกัดการเดินทางในสถานการณ์โควิด” เธอกล่าวเสริม

ผลการประเมินเผยให้เห็นว่า สวิตเซอร์แลนด์ทำคะแนนได้สูงสุด (88.1) ตามมาด้วยเดนมาร์ก (88.0) ในอันดับ 2 ส่วนอันดับ 3 ร่วมตกเป็นของฟินแลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน (86.9) นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ามหาอำนาจของโลกอย่างสหรัฐอเมริกาไม่ติด 10 อันดับแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้มีความมั่งคั่งทั่วโลกมีมุมมองที่เปลี่ยนไปอย่างมากเกี่ยวกับความสามารถของประเทศยักษ์ใหญ่ในการมอบข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน เอเชียได้กลายเป็นศูนย์กลางของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลมาจากข้อได้เปรียบทางธุรกิจมากมาย ที่โดดเด่นคือประเทศญี่ปุ่นซึ่งรั้งอันดับ 6 และสิงคโปร์ในอันดับ 7

นอกเหนือจากการวิเคราะห์สมรรถภาพของประเทศต่าง ๆ แล้ว รายงาน WCR ยังสำรวจแนวทางที่ผู้มีความมั่งคั่งใช้ในการปกป้องและเพิ่มพูนความมั่งคั่งของตนเอง หนึ่งในนั้นคือการวางแผนการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ โดยต้องพิจารณาถึงภาษีทรัพย์สินและภาษีมรดก รวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์เกิดใหม่ที่มีมูลค่าอย่างเช่นสกุลเงินดิจิทัล

รายงานดังกล่าวยังค้นพบด้วยว่า การลงทุนเพื่อขอสัญชาติ (Citizenship by Investment: CBI) เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับผู้มีความมั่งคั่งที่สุดจากทั่วโลก และกลายเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงที่เกิดสถานการณ์โรคระบาด โดย CBI มอบทางเลือกและทางออกที่ประหยัดเวลาในการขอสัญชาติ แม้ผู้ที่ไม่มีพันธะด้านการสมรส การสืบสกุล หรือการแปลงสัญชาติในประเทศนั้น ๆ ก็สามารถได้รับสัญชาติที่สองภายใน 3-4 เดือน เมื่อผ่านกระบวนการตรวจสอบหลายขั้นตอน

รายงานระบุว่า ผู้ประกอบการและนักธุรกิจต่างกำลังมองหาการลงทุนที่มั่นคงท่ามกลางการล็อกดาวน์ทั่วโลก แม้ว่าอนาคตไม่อาจล่วงรู้ได้ แต่การตามทันกระแสโลกได้ช่วยให้ผู้มีความมั่งคั่งและพลเมืองโลกจำนวนมากสามารถคว้าโอกาสในสถานที่ต่าง ๆ ที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน ทั้งนี้ รายงาน WCR ตั้งใจนำเสนอกระแสโลกเหล่านี้ และช่วยให้กระบวนการขอสัญชาติที่สองเป็นเรื่องง่ายขึ้น ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลที่ผู้มีความมั่งคั่งและครอบครัวให้ความสนใจมากที่สุด

Nateetorn S.

ผู้สื่อข่าว ทำงานกับ Thaiger มาตั้งแต่ปี 2020 จบการศึกษาจากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสคร์ เคยทำงานกับสถานีโทรทัศน์อันดับ 1 ของประเทศ ทำให้มประสบการณ์ความเชี่ยวชาญ เจาะประเด็นข่าวการเมืองอาชญากรรม ข่าวแปลกๆ เรื่องน่าสนใจจากต่างประเทศ ช่องทางติดต่อ tee@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Back to top button