ข่าวข่าวภูมิภาค

21 ก.ย. วันสันติภาพสากล เปิดประวัติความเป็นมาและทำไมต้องนกพิราบสีขาว

วันสันติภาพสากล ย้อนดูประวัติของวันสำคัญโลกที่กำหนดให้วันที่ 21 ก.ย.ของทุกปี เป็นวันที่ผู้คนทั่วโลกจะตระหนักและส่งเสริมการมีสันติภาพทั่วโลก

เนื่องด้วยในวันที่ 21 กันยายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น “วันสันติภาพสากล” ประชาชนในแต่ละประเทศทั่วโลกจะร่วมรำลึก และรณรงค์เพื่อให้เกิดความตระหนัก ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมสันติภาพทั่วโลก

เพื่อให้เข้าใจถึงความสำคัญของวันนี้ the thaiger ขอพาทุกท่านไปซึมซาบกับประวัติความเป็นมาของวันสำคัญวันนี้ให้มากขึ้น

ประวัติ ความเป็นมา วันสันติภาพสากล

วันนี้จัดขึ้นเพื่อประกาศการเริ่มต้นของวันสันติภาพสากล ระฆังสันติภาพ ณ สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติ จะดังขึ้น ซึ่งระฆังดังกล่าวถูกหลอมขึ้นจากเหรียญที่เด็กทั่วโลกช่วยกันบริจาค ระฆังใบนี้ถือเป็นอนุสรณ์เตือนให้ระลึกถึงความสูญเสียจากสงคราม

โดยมีการสลักประโยคหนึ่งประโยคไว้ข้างระฆังว่า Long live absolute world peace. ขอความยั่งยืนจงมีแด่สันติภาพอันแท้จริง

ปี 1981 คณะกรรมการสหประชาชาติประกาศมติที่รับรองโดยคอสตารีกา ให้วันอังคารที่สามของเดือนกันยายน (ซึ่งเป็นวันเปิดประชุมสามัญ) เป็นวันสันติภาพสากล เพื่อให้ความสำคัญกับสันติภาพ 20 ปีให้หลัง ที่ประชุมใหญ่มีมติใหม่ที่ได้รับการรับรองจากสหราชอาณาจักร และคอสตารีกา ให้กำหนดวันที่แน่นอนและประกาศเป็นวันยุติการสู้รบของโลก (a global ceasefire day) คือ วันที่ 21 กันยายน องค์การสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันนี้เป็น “วันสันติภาพสากล” (The International Day of Peace) เพื่อขอให้ประชาชนทุกประเทศหยุดยิง หยุดใช้ความรุนแรงกันทั่วโลก และหยุดการทำสงครามตลอดทั้งวัน นอกจากนี้ยังได้เชิญประเทศสมาชิก หน่วยงานสหประชาชาติ ชุมชน และองค์กรอิสระ ให้เฉลิมฉลองและร่วมมือกันสร้างสันติภาพทั่วโลก

ทำไม นกพิราบ จึงเป็นสัญลักษณ์ของ สันติภาพ

สำหรับสัญลักษณ์ของสันติภาพ ได้มีการแทนความหมายของ สันติภาพ ด้วยการใช้เป็นภาพของนกพิราบคาบกิ่งมะกอก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ใช้กันอย่างสากล

สาเหตุที่ทำไมต้องเป็นนกพิราบนั้นเนื่องจากชาวตะวันมีความเชื่อว่า นกพิราบ เป็นวิญญาณของพระผู้เป็นเจ้า เป็นตัวแทนของความบริสุทธิ์ตามพระคัมภีร์ไบเบิล อีกทั้งยังเป็นสัญลักษณ์ของเรียนเรียกร้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงเป็นการแสดงสัญลักษณ์ทางวิชาชีพสื่อสารมวลชนอีกด้วย เพราะนกพิราบนั้นมีความสามารถในการจดจำเส้นทางได้อย่างแม่นยำ ผู้คนส่วนใหญ่จึงใช้นกพิราบในการสื่อสาร

ส่วน กิ่งมะกอก ก็เป็นสิ่งที่ชาวกรีกโบราณใช้งานพิธีสำคัญ เป็นมงกุฏสวมให้ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งและมอบให้ผู้ชนะในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก

และผู้ที่ทำให้นกพิราบกลายเป็นสัญลักษณ์สันติภาพ ‘สากล’ คือ ปาโบล ปิกัสโซ ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวสเปน เพราะเขาใช้ภาพพิมพ์หิน ชื่อ La Colombe หรือ The Dove ซึ่งเป็นภาพนกพิราบทั่ว ๆ ไป และไม่มีกิ่งมะกอก เป็นสัญลักษณ์ของการประชุมใหญ่ระดับโลกของผู้ฝักใฝ่สันติภาพ (World Congress of Partisans for Peace) เมื่อวันที่ 20 เมษายน 1949 ณ กรุงปารีส

ต่อมา ในการประชุมคณะกรรมการเพื่อสันติภาพโลก (World Peace Council) ที่เมืองเชฟฟีลด์ ในปี 1950 ปิกัสโซได้ปราศัยว่า พ่อของเขาเป็นผู้สอนเขาวาดนกพิราบ เขายังกล่าวอีกว่า “ผมยืนหยัดเพื่อชีวิตแทนที่ความตาย และยืนหยัดเพื่อสันติภาพแทนสงคราม”

นับแต่นั้น นกพิราบจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของกิจกรรมหรือความเคลื่อนไหวใด ๆ ที่ต้องการเรียกร้องสันติภาพแก่มวลมนุษย์

คําขวัญวันสันติภาพโลก 2564

สำหรับคำขวัญของปี 2564 ระบุว่า “Recovering better for an equitable and sustainable world” โดยมุ่งเน้นไปที่การให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียม และความยั่งยืนของโลก

จุดมุ่งหมาย 6 ข้อของวันสันติภาพโลก

  1. เคารพต่อชีวิตและศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคล โดยไม่ลำเอียงแบ่งชนชั้นวรรณะ
  2. ไม่ใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะต่อเยาวชน
  3. ร่วมสร้างสังคมแบ่งปันอย่างมีน้ำใจ เพื่อลดการแบ่งแยก การกดขี่ทางการเมือง และเศรษฐกิจ
  4. เคารพเสรีภาพในการแสดงออก และยอมรับความแตกต่างทางวัฒนธรรม
  5. ดำเนินชีวิตอย่างรับผิดชอบ และเคารพต่อทุกชีวิตในโลก เพื่อรักษาสมดุลของธรรมชาติ
  6. สร้างความสมานฉันท์ เคารพต่อหลักการประชาธิปไตย ให้โอกาสทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะผู้หญิง

กิจกรรมวันสันติภาพโลกในประเทศไทย

ประเทศไทย ที่ อ.แม่สอด จังหวัดตาก มีกิจกรรมเดินขบวนเพื่อสันติภาพ (Peacemarch) เพื่อสวดมนต์ขอพรให้เกิดสันติภาพในพม่า ในไทย และโลก รวมทั้งเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์การชุมนุมอย่างสันติของพระภิกษุเมื่อเดือนกันยายนปี 2007 ในพม่า การเดินขบวนครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากทั่วโลกเนื่องจากจะมีการจัดกิจกรรมดังกล่าวในประเทศต่างๆ ในเวลาเดียวกัน

บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ยังสร้างสรรค์ผลงานเพลงที่เน้นความสำคัญของการใช้เวลา 1 นาที หยุดนิ่งให้ความสงบ ในบทเพลง “เพียงหนึ่งนาที” ซึ่งเป็นสื่อหนึ่งของโครงการ “คุณธรรมหนุนนำสันติสุข” ของมูลนิธิบราห์มา กุมารี ราชาโยคะ มหาวิทยาลัยทางจิตของโลก เพื่อเป็นการควบคุมการเคลื่อนไหวของจิต และเป็นสื่อในการเตือนตนเองให้เรียนรู้ความสงบนิ่งภายในตัวเอง

มูลนิธิสหพันธ์สันติภาพสากล (ประเทศไทย) ในฐานะที่ปรึกษาพิเศษของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์อ่านสารสันติภาพของผู้นำประเทศและเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และกิจกรรมยืนสงบนิ่งร่วมจิตอธิษฐานเป็นเวลา 1 นาที ในสถานศึกษาทั้งของภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นการสร้างกระแสให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของสันติภาพ และร่วมมือกันสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในครอบครัว สังคม ประเทศชาติ และโลก

อ้างอิงข้อมูล : gypzyworld.com, thaigoodview.com,www.peacedayphilly.org

วางแผนชีวิต เพื่อความมั่นคงในบั้นปลาย เลือกทำประกันชีวิตกับ Tadoo คลิกที่นี่

APPO

Pachara

นักเขียนประจำที่ Thaiger จบการศึกษาด้านศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยผ่านประสบการณ์ผู้สื่อข่าวกีฬา เริ่มเขียนบทความกับ Thaiger ตั้งแต่ปี 2021 วิ่งกับการอ่านหนังสือ คือ กิจกรรมที่สนใจเป็นพิเศษ ช่องทางติดต่อ pachara@thethaiger.com

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใส่ความเห็น

Back to top button