สรุปดราม่า #ดาราcallout จากคำเตือนถึงสิทธิขั้นพื้นฐานประชาชน
ดราม่า #ดาราcallout ซึ่งเป็นการคอลแลปกันระหว่าง วงการบันเทิง กับ ผู้หลักผู้ใหญ่ของรัฐบาล จุดเริ่มต้นเป็นอย่างไร ขอย้อนเล่าให้ฟังแบบนี้
วันที่ 21 ก.ค. 64 นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการ การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร และอดีตผู้สมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้เข้าไปยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้ตรวจสอบกลุ่มศิลปินดารา และผู้มีชื่อเสียงกว่า 20 คน ออกมา Call Out เกี่ยวกับสถานการณ์ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายหลายฉบับ ทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ , พ.ร.ก.ฉุกเฉิน , และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
ออกหมายเรียก มิลลิ
มีรายงานว่า หนังสือดังกล่าว มีภาพคนบันเทิงหลายคน หนึ่งในนั้นคือแร็ปเปอร์สาวชื่อดัง มิลลิ ดนุภา คณาธีรกุล ซึ่งต่อมาถูกหมายเรียกหลังจากออกมา Call Out
เมื่อแร็ปเปอร์สาวโดนหมายเรียก ส่งผลให้เหตุการณ์ลุกโชนทันที เกิด #SAVEมิลลิ ทะยานติดเทรนด์ทวิตเตอร์ไทย พร้อมเสียงวิจารณ์ถึงการกระทำดังกล่าว เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะประชาชนมีสิทธิ์ออกมาเรียกร้องตามสิทธิขั้นพื้นฐาน
รมว.ดีอีเอส โหมกองเพลิงให้ลุกโชน
ขณะเดียวกัน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกมาบอกว่าเตรียมดำเนินคดี มือโพสต์ข้อมูลเท็จ จากสถานการณ์ชุมนุม 18 ก.ค. 64 จำนวน 147 ราย พบมากสุดบนทวิตเตอร์
อย่างไรก็ตาม ประเด็นร้อนแรงมาอยู่ตรงที่ ตอนท้ายซึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ได้เตือนเหล่าศิลปิน ดารา อินฟลูเอนเซอร์ ว่า
“เป็นบุคคลสาธารณะที่ประชาชนรักและศรัทธา ขอความกรุณาอย่าใช้สิ่งเหล่านี้เคลื่อนไหวทางการเมืองโจมตีรัฐบาล เพราะสิ่งที่ทำเป็นการบิดเบือนข้อมูล เป็นการสร้างเฟกนิวส์ขึ้นในระบบโซเชียลมีเดีย ท่านพูดแต่ว่าทุกวันนี้มีคนตายเป็นจำนวนมากเพราะโควิดเนื่องจากวัคซีนไม่ดีเป็นความผิดของรัฐบาล แล้วมันจริงหรือไม่ ขอให้อย่ามองเพียงด้านเดียว ต้องนึกถึงสิ่งที่รัฐบาลได้ทำมาได้จัดหาวัคซีนมาอย่างดีตามมาตรฐาน เทียบกับประเทศเพื่อนบ้านเราตอนนี้”
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วาทะของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ คือ เชื้อเพลิงชั้นดีที่ทำให้ไฟแห่งดราม่านี้ ลุกลามหนัก
เพราะจากนั้นไม่นาน คนบันเทิง เหล่าคนดัง จำนวนมาก ออกมา Call out ทั่วสารทิศแพลตฟอร์ม ทั้ง ทวิตเตอร์ IG และเฟซบุ๊ก
อาทิ ใหม่ ดาวิกา โฮร์เน่ นักแสดงสาวซึ่งมีจำนวนผู้ติดตามผ่าน อินสตราแกรมของไทย สูงสุดเป็นอันดับ 3 โพสต์ภาพข่าวผ่านไอจี คนนอนเสียชีวิตบนทางเท้า ภาพตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 พร้อมกับเขียนข้อความว่า
“ประชาชนจะต้องอดทนอีกนานแค่ไหน? เราช่วยเหลือกันทุกอย่าง ถึงตอนนี้เราช่วยกันเรียกร้องสิทธิที่เราควรมีและสิ่งที่เราควรได้รับเท่านั้น… อนาคตข้างหน้าจะเป็นยังไง พวกเราต้องสู้กันอีกต่อไปนานแค่ไหน… ประชาชนทุกคนควรจะได้รับวัคซีนที่มีคุณภาพโดยไม่ต้องเสียเงินเพราะมันคือสิทธิ์ขั้นพื้นฐาน โปรดจัดสรรอย่างทั่วถึง”
หลังโพสต์นี้ถูกแชร์ออกไป มีผู้คนเข้ามากดไลค์กว่า 5 แสนครั้ง ความคิดเห็นกว่าพันข้อความ
มีคนบันเทิงอีกจำนวนมากที่ออกมา Call out หลังคำเตือนของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ เช่นเดียวกับ กระแส #ดาราcallout ซึ่งพุ่งขึ้นที่ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ ที่ต่างก็ออกมาวิจารณ์กันถล่มทลาย
โดยเฉพาะประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออก และเสรีภาพทางความคิดของประชาชน
อาจารย์นิติศาสตร์ จุฬาฯ แจงกฏหมาย
วันที่ 22 ก.ค.64 ผศ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อ.คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชี้แจงในแง่กฏหมายกรณี รมว.ดีอีเอส จะฟ้องดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาวิจารณ์รัฐบาล
ระบุ ไม่ว่าจะเป็นดารานักแสดง หรือคนธรรมดา ต่างมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครอง
หากบุคคลนั้นมีความคิดความเห็นอย่างไรต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาล หรือแม้แต่ รมว. เอง ตราบเท่าที่ไม่ได้ไปด่าทออย่างไม่มีเหตุมีผล ย่อมมีเสรีภาพที่จะทำได้เสมอ รัฐธรรมนูญคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนตรงนี้
สอดคล้องกับหลักการในทางกฎหมายอาญาที่รับรองว่า ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงความคิดได้โดยไม่ถือว่าเป็นความผิดหากเป็นการติชมอย่างสุจริต
อ้างอิงข้อมูลจาก : Matichon, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, davikah
ภาพ : Twitter, davikah, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
สนใจทำประกันบ้านกับ Tadoo คลิกที่นี่